กินดีมีสุข
คิดว่าหลายคนคงเคยได้ยินมาบ้าง สำหรับคำว่า “you are what you eat” หมายถึงคุณกินอะไรเข้าไปตัวของคุณก็จะเป็นอย่างนั้นแหละ คำนี้ถูกเอามาใช้กันอย่างมากมายในแวดวงรักษาสุขภาพ คอยกระตุ้นเตือนให้ผู้คนระมัดระวังกับสิ่งที่พวกเขากินเข้าไปทุกวันๆ
ไม่เพียงแต่สุขภาพกายเท่านั้น แม้แต่เรื่องของสุขภาพจิตคำว่า “you are what you eat” นี้ก็ยังใช้ได้ดี
(เร็วๆนี้วารสาร AJP (American Journal of Psychiatry) ได้รายงานการศึกษาของนายแพทย์ฮานาห์ เนเมทซ์ และคณะ ยืนยันว่า กรดไขมันโอเมก้า-3 มีมากในปลาทะเลทุกชนิดสามารถรักษาผู้ป่วยโรคอารมณ์เศร้าในเด็กได้ และยังมีรายงานการศึกษาต่อพบว่าน้ำมันปลาช่วยลดอารมณ์เศร้าในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้ด้วย)
สารชีวเคมีตัวสำคัญของสมองที่ความสัมพันธ์กับอารมณ์ของผู้คนโดยตรงนั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ตัว นั่นก็คือ โดปามีน (dopamine), นอร์อิพิเนฟริน (norepinephrin) และ ซีโรโทนิน (serotonin)
ปริมาณโดปามีนและนอร์อิพิเนฟรินในสมองเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรู้สึกตื่นตัว กระตือรือร้น รวมไปถึงการมีสมาธิด้วย ในขณะที่ซีโรโทนินจะเกี่ยวข้องกับความรู้สึกสงบเยือนเย็น และแน่นอนว่ามันช่วยลดภาวะวิตกกังวล หรือความซึมเศร้าได้
ที่สำคัญก็คือสารชีวเคมีทั้ง 3 ตัวนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับอาหารที่พวกเรากินกันเข้าไป
อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง และน้ำตาล ทำให้ร่างกายหลั่งสารซีโรโทนินออกมาในสมอง มันเป็นเหตุผลว่าทำไมเวลาที่เรากินของหวานแล้วจึงมักรู้สึกผ่อนคลาย อารมณ์ดี และจะรู้สึกหงุดหงิดหากเกิดภาวะขาดน้ำตาล หรือหากกินอาหารจำพวกแป้งของหวานมากจนเกินไปก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกง่วงซึมขึ้นมาได้ (คนโบราณจึงมักพูดว่ากินข้าวอิ่มเกินไปแล้วจะขี้เกียจ)
เมื่อร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตเข้าไป ร่างกายก็สร้างเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ทริปโตแฟน (tryptophan) ขึ้นมา โดยทริปโตแฟนจะถูกร่างกายเปลี่ยนให้เป็นซีโรโทนินอีกต่อหนึ่ง ปรากฏว่าเจ้าทริปโตแฟนที่ว่านี้ดันไปมีมากอยู่ในกล้วยหอม เลยกลายเป็นว่าใครกินกล้วยหอมบ่อยๆ ก็จะมีแนวโน้มที่จะเป็นคนอารมณ์ดี นั่นหมายความว่าการกินกล้วยหอมบ่อยๆ อาจมีส่วนช่วยต้านภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย
สำหรับ โดปามีน และอิพิเนฟริน นั้นโดยปกติร่างกายจะสร้างขึ้นมาเมื่อระดับของซีโรโทนินเริ่มลดระดับลง แต่อย่างไรก็ตามอาหารจำพวกที่มีโปรตีนสูงๆ ก็มีผลโดยตรงต่อการสร้างโดปามีนของร่างกาย โดยร่างกายจะเปลี่ยนกรดอะมิโนอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า ไทโรซีน (tyrosine) ซึ่งมีอยู่ในอาหารที่มีโปรตีนสูง ให้กลายเป็นโดปามีนอีกที
โดปามีนมีผลโดยตรงในเรื่องความกระฉับกระเฉงและเกี่ยวข้องกับโปรตีน เคยมีรายงานสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่าทหารอินเดียชาวฮินดูซึ่งส่วนมากเป็นมังสวิรัติที่ถูกกองทัพอังกฤษเกณฑ์ไปรบกับทหารญี่ปุ่นมักมีบุคลิกเซื่องซึมไม่กระฉับกระเฉงเอาเสียเลย ทำให้การรบเป็นไปอย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เดือดร้อนถึงขนาดกองทัพอังกฤษต้องออกกฎบังคับให้ทหารฮินดูเหล่านี้ทานเนื้อบ้าง ประสิทธิภาพในการรบ (ความกระฉับกระเฉงตื่นตัวของทหาร) จึงค่อยเพิ่มดีขึ้นในเวลาต่อมา
นอกจาก โดปามีน นอร์อิพิเนฟริน และซีโรโทนิน ที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ก็ยังมีสารชีวเคมีอีกตัวหนึ่งซึ่งมีความสำคัญและคิดว่าหลายคนน่าจะคุ้นหูกันดีนั่นก็คือ เอ็นโดรฟิน (endorphin)
เมื่อร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟินออกมาจะทำให้ร่างกายทนต่อความเจ็บปวดได้ดี ในทางจิตเวชศาสตร์เอ็นโดรฟินส่งผลทำให้อารมณ์ดี รู้สึกเป็นสุข บางคนจึงตั้งชื่อให้กับสารนี้เป็นภาษาไทยว่า "สารแห่งความสุข"
โดยปกติแล้วร่างกายจะหลั่งเอ็นโดรฟินออกมาหลังจากที่เราออกกำลังกายหนักถึงจุดหนึ่ง แต่ก็ค้นพบกันว่าการรับประทานช็อคโกแลตเข้าไปก็มีผลโดยตรงต่อการเพิ่มปริมาณสารเอ็นโดรฟินในร่างกายได้ด้วยเช่นกัน (แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะกินช็อกโกแลตแทนการออกกำลังกายหรอกนะ)
โดยสรุปแล้ว ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจะมีระดับซีโรโทนินในสมองน้อยกว่าปกติ ดังนั้นการรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต (แน่นอนรวมไปถึงขนมหรือของหวานด้วย) จึงเป็นตัวช่วยที่สำคัญทางหนึ่ง โดยพบว่า 30 นาทีหลังจากรับประทานอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตเข้าไปแล้ว จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และสงบได้นานหลายชั่วโมง
เพราะฉะนั้นเครียดๆ มาเมื่อไหร่ การนั่งหาร้านขนมนั่งทานชิวๆ ช่วยท่านได้ (แต่ก็อย่าเยอะจนเกินไปเพราะท่านจะหายเครียดตอนนั้น แต่จะได้มากลุ้มใจเรื่องความอ้วนในภายหลังแทน)
ส่วนคนที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับสมาธิ ความรู้สึกตื่นตัว รวมไปถึงผู้ป่วยโรคจิตเภท (schizophrenia) คนกลุ่มนี้จะมีระดับโดปามีนในสมองมากกว่าคนปกติ ดังนั้นการทานอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนจึงเป็นตัวช่วยที่ดีด้วยเช่นกัน
:)
----------------------------------------------
เรียบเรียงจาก บทความเรื่อง “อารมณ์ vs อาหาร”
โดย DMH Staffs
จากเว็บไซต์กรมสุขภาพจิต
----------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง:
Hanah Nemets. (2006)"Omega-3 Treatment of Childhood Depression: A Controlled, Double-Blind Pilot Study:" American Journal of Psychiatry 163:1098-1100.
Wurtman, J. (1989) "Carbohydrate Craving, Mood Changes, and Obesity." Journal of Clinical Psychiatry 49 (Suppl.) 37–39.
Wurtman, R. J., et. al. (1986) "Carbohydrate Cravings, Obesity and Brain Serotonin." Appetite 7 (Suppl.): 99–103.
Wurtman, R. J., and J. J. Wurtman (1989) "Carbohydrates and Depression." Scientific American (January): 68–75.