แรงผลักดันจากจิตใต้สำนึก

   


วันก่อนตอนที่ผมออกไปทำธุระ พอดีเดินผ่านร้านขายขนมเบื้องเจ้าดัง เห็นขนมเบื้องไส้หวานทำสดๆใหม่ๆ แลดูน่ากิน ว่าแล้วก็เลยอุดหนุนเขาไป 2 ชิ้น เอามากินเล่นระหว่างที่รอทำธุระ
 
ก่อนจะตัดสินใจซื้อขนมเบื้อง 2 ชิ้นนั้นมา ความจริงแล้วมีเหตุผลมากมายอยู่ภายในสมองอันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ (คือการตัดสินใจซื้อ) เช่นว่าวันนี้เมื่อตอนเช้าออกกำลังกายหนักร่างกายอ่อนเพลียต้องการคาร์โบไฮเดรต กินขนมเบื้องเข้าไปซัก 2 ชิ้นก็น่าจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมีความสดชื่นได้มากขึ้น หรือนานๆมาแถวนี้ที ของก็เพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ 2 ชิ้นแค่ 20 บาท ถ้าไม่ซื้อกินตอนนี้ก็น่าเสียดายแย่ หรืออะไรทำนองอย่างนี้อีกมากมาย
 
แต่เชื่อเถอะ ไม่ว่าจะมีเหตุผลมากมายเพียงใดก็ตาม แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นแรงผลักดันอยู่เบื้องลึกที่สุด ความจริงก็มีเพียงแค่ “อยากกิน” เท่านั้นแหละ
 
เหตุผลต่างๆล้วนเป็นผลการทำงานมาจากจิตรู้สำนึก ในขณะที่ความอยากหรือความต้องการตอบสนองทางอารมณ์ในขั้นพื้นฐานเป็นผลการทำงานมาจากจิตใต้สำนึก
 
ถึงแม้ว่าโดยหลักการแล้วจิตรู้สำนึกจะทำหน้าที่ในการควบคุมจิตใต้สำนึก เพื่อทำให้มนุษย์มีความยับยั้งชั่งใจมากเพียงพอที่จะทำให้มนุษย์สามารถอยู่รวมกันเป็นสังคมได้
 
แต่อย่างไรก็ตามจิตรู้สำนึกเองมันก็มักจะตกอยู่ภายใต้แรงผลักดันจากจิตใต้สำนึกโดยที่มันไม่รู้ตัว
 
(เพราะว่าอยากกินนี่แหละก็เลยต้องสร้างเหตุผลขึ้นมาเป็นจำนวนมากเพื่อนำไปสู่การได้กินให้สมอยาก)
 
เพราะฉะนั้นจิตใต้สำนึกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจิตใต้สำนึกทำงานอย่างไร จิตรู้สำนึกก็มีแนวโน้มที่จะผลิตเหตุผลต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
 
บางทีเหตุผลประหลาดๆ ที่เราอาจจะพบเจออยู่ในเหตุการณ์ต่างๆ มันก็ไม่ได้เกิดจากความฉลาดของจิตรู้สำนึกหรอก แต่เกิดจากแรงผลักดันจากจิตใต้สำนึกที่กำลังทำงานแบบประหลาดๆ ต่างหากล่ะ
 
คาร์ล กุสตาฟ ยุง นักจิตวิทยาแนวจิตวิเคราะห์ได้กล่าวได้ว่า
 
"จนกว่าคุณจะทำให้จิตใต้สำนึกมันรู้สึกนึก(ว่าควรหรือไม่ควรที่จะทำอะไร) คุณก็จะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใต้สำนึก โดยที่คุณไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากบอกกับตัวเองว่ามันคือเวรกรรมของฉัน"
 
80% ของพฤติกรรมเกิดขึ้นจากแรงผลักดันของจิตใต้สำนึก แต่จิตใต้สำนึกนั้นไม่รู้เหตุผล มันเพียงทำไปตามความเคยชินที่มีอยู่ จิตใต้สำนึกที่ไม่รู้ผิดชอบชั่วดีจึงมักก่อให้เกิดซึ่งพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
 
ส่วนการสะกดจิตบำบัดคือการให้การเรียนรู้แก่จิตใต้สำนึก ว่าควรหรือไม่ควรที่จะทำอะไร