เส้นทางของชีวิต
ถ้าเราเปรียบชีวิตของเราว่าเป็นเหมือนกับการลากเส้นไปบนกระดาษ ตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเกิดมาจนถึงวินาทีปัจจุบันนี้
เราได้ลากเส้นไปยาวเท่าไหร่แล้ว?
และที่สำคัญก็คือเส้นที่เราลากทั้งหมดนั้นมันเป็นอย่างไรบ้าง?
บางช่วงเวลาเส้นมันก็ราบเรียบดี แต่บางช่วงเวลามันก็ช่างยุ่งเหยิงเสียเหลือเกิน
ศาสนาพุทธกระตุ้นเตือนให้เราตระหนักถึงเรื่อง “กฎแห่งกรรม” หรือก็คือ “ผลของการกระทำ” (Action = Reaction)
“เพราะเราทำสิ่งนั้นสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น” นี่คือหัวใจที่สำคัญเป็นอย่างมาก
ก่อนหน้าที่เส้นชีวิตเราจะยุ่งเหยิงมันจะต้องนำมาด้วยการลากเส้นที่ผิดปรกติบางอย่างนำมาก่อนเสมอ ดังนั้นเหตุผลที่ชีวิตมันเกิดทุกข์ในทุกวันนี้ ก็เพราะมันเป็นผลลัพธ์จากบางสิ่งบางอย่างที่เราเคยทำไว้ก่อนหน้านี้นั่นแหละ
ทุกอย่างมีต้นเหตุ มันจะกิดขึ้นมาเองเฉยๆ มันเป็นไปไม่ได้
การจะแก้ไขอะไรสักอย่างในโลกนี้ต้องเริ่มแก้ที่ต้นเหตุ
โดยทางหลักการแล้วนั่นหมายความว่า ถ้าหากเราต้องการที่จะแก้ไขบางสิ่งบางอย่างในชีวิตที่เรากำลังเป็นอยู่ให้มันดียิ่งขึ้น การย้อนกลับไปแก้ไขเหตุการณ์ในอดีตซึ่งเป็นต้นเหตุจึงน่าจะเป็นหลักการที่ถูกต้องที่สุด
แต่ในโลกของความเป็นจริงเราคงทำอย่างนั้นไม่ได้
เราจะย้อนเวลากลับไปยังอดีตเพื่อแก้ไขสิ่งต่างๆ ที่เราเคยทำเอาไว้ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
แต่หากต้องการจะย้อนเวลากลับไปจริงๆ แล้วล่ะก็ เครื่องมือชนิดเดียวที่เรามีอยู่ในขณะนี้ก็คือ “ความทรงจำ” ในห้วงมโนสำนึกของเราเอง
เราอาจจะสามารถย้อนกลับไปในอดีตได้โดยผ่านทางความทรงจำภายในสมองของเรา
ลองหาที่เงียบๆ นั่งลงหลับตาแล้วหายใจลึกๆ จากนั้นก็ลองนึกย้อนทบทวนกลับไปยังเหตุการณ์ในอดีตเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ นี่เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับการย้อนอดีตกลับไป ยิ่งประสบการณ์นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องเด่นชัด เป็นเรื่องที่ทำให้เราเกิดอารมณ์ต่างๆ ขึ้นอย่างมากมาย (ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์) การย้อนกลับไปก็ยิ่งทำได้ง่าย
แล้วเราจะย้อนอดีตกลับไปเพื่ออะไร?
นัก nlp ยุคก่อนๆ มักแนะนำให้ client ของเขานึกย้อนกลับไปในอดีต โดยย้อนกลับไปยังเหตุการณ์ซึ่งเป็นตัวต้นเหตุต้นเรื่องของปัญหา
จากนั้นก็ใช้จินตนาการที่สร้างสรรค์แก้ไขเหตุการณ์นั้นให้มันดียิ่งขึ้น (ถ้าเคยทำผิดก็ไปแก้ว่าไม่ได้ทำ ถ้าเคยถูกกระทำก็ไปแก้ว่ารอดมาได้อะไรทำนองอย่างนี้) หมั่นย้อนคิดแก้ไขซ้ำบ่อยๆ จนกระทั่งสมองเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ (หรืออย่างน้อยสมองก็เคยชินที่จะคิดถึงเรื่องเก่าๆ ด้วยรูปแบบใหม่ๆ ตามที่เคยถูกฝึกไว้)
เมื่อต้นทางถูกแก้ไขปลายทางก็ย่อมต้องเปลี่ยนแปลง ดังนั้นบุคลิกภาพก็จะเปลี่ยนไป และปัญหาต่างๆจะคลี่คลายดีมากยิ่งขึ้น มันเป็นวิธีการนึงที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เรียกว่าเป็นการทำ “reframing ” แบบคลาสสิค
ส่วนนัก nlp ยุคใหม่มองว่าการเข้าไปแก้ไขความทรงจำโดยตรงเป็นเรื่องที่ชวนให้ตะขิดตะขวงใจชอบกล ดังนั้นพวกเขาจึงเสนอแนะวิธีการอื่นซึ่งคล้ายกันแต่ให้ผลสร้างสรรค์ยิ่งกว่า นั่นก็คือการย้อนอดีตกลับไปเพื่อพิจารณารายละเอียดต่างๆ ของเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น (และเป็นต้นตอของปัญหา) จากนั้นก็ “เรียนรู้” ถึงข้อผิดพลาดที่เคยเกิด
ตอนนั้นมันเกิดอะไรขึ้น? มันผิดพลาดอย่างไร? ถ้าย้อนกลับไปแก้ได้ฉันจะทำอย่างไรจึงจะเป็นวิธีการที่สร้างสรรค์ที่สุด?
ที่สำคัญที่สุดก็คือการเรียนรู้ที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดนี้ซ้ำอีก
ฝึกย้อนกลับไปในอดีตไต่ตรองสิ่งต่างๆ และเรียนรู้ต่อปัญหาที่เคยเกิดขึ้นด้วยสติปัญญา ทำแบบนี้บ่อยๆจนกระทั่งสมองและระบบประสาทมันจดจำ กลายเป็นวิธีการใหม่ๆ ที่เราจะใช้ในการตอบสนองต่อปัญหาที่มันอาจจะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า
เมื่อวิธีการเปลี่ยน ผลลัพธ์มันจึงเปลี่ยนแปลง นี่เป็นหลักการที่สำคัญ
คนเรานั้นไม่เคยมีใครไม่ผิดพลาด แต่ที่น่าเจ็บใจที่สุดก็คือการผิดพลาดเรื่องเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่าต่างหาก
"ปัญหามีให้เราได้เรียนรู้"