เรื่องของการสะกดจิตระลึกชาติ
สำหรับบทความต่อไปนี้ ขอออกตัวก่อนว่าโดยทั่วไปแล้วผมเป็นคนที่เชื่อเรื่องชาติภพ เชื่อเรื่องชาตินี้ชาติหน้าไม่ต่างจากชาวพุทธทั่วๆ ไป เพียงแต่ผมไม่เชื่อว่าเทคนิคการสะกดจิตจะทำให้ใครก็ได้สามารถค้นพบอดีตชาติของตนเอง และไม่เชื่อว่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการสะกดจิตย้อนระลึกชาติจะเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถเชื่อถือได้ทุกรณี
เรื่องของการสะกดจิตระลึกชาตินี้อาจฟังแล้วรู้สึกแปลกประหลาดสำหรับใครหลายๆ คน (ไม่ว่าจะประหลาดใจไปในทางเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม) แต่สำหรับในวงการนักสะกดจิต โดยเฉพาะนักสะกดจิตแบบไทยๆ เราแล้วไม่ได้ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด เพราะปรากฏว่าในหลักสูตรที่สอนเทคนิคสะกดจิตก็มักจะมีเนื้อหาในส่วนประกอบอยู่ด้วยเสมอโดยเฉพาะในชั้นสูงๆ (บางที่ถือว่าเป็นไฮไลท์สำคัญสำหรับโฆษนาหลักสูตรด้วยซ้ำ)
และในต่างประเทศ เช่นสหรัฐอเมริกา ก็ปรากฏว่ามีการเปิดหลักสูตรสอนเทคนิคสะกดจิตระลึกชาติกันอย่างเอิกเกริกมีผู้สนใจเข้ารับการอบรมกันเป็นจำนวนมาก (คนไทยหลายคนก็ลงทุนบินไปเรียนถึงที่นั่น)
สำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคสะกดจิตระลึกชาตินี้ เราคงต้องเริ่มต้นย้อนกลับไปยังแนวคิดพื้นฐานที่เป็นจุดเริมต้นของมัน โดยหลักการที่สำคัญเบื้องต้นมีอยู่ว่า
"จิตใต้สำนึกคือคลังข้อมูลของชีวิต บรรดาข้อมูลของประสบการณ์หรือความทรงจำต่างๆ ในชีวิตล้วนถูกเก็บบันทึกอยู่ในจิตใต้สำนึกอย่างถาวรไม่มีวันสูญหาย แม้ว่าบ่อยครั้งที่จิตรู้สำนึกจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อีกต่อไปแล้วก็ตาม"
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซิคมันด์ ฟรอยด์ ต้นกำเนิดของทฤษฏีจิตใต้สำนึกได้มีแนวคิดในการทำจิตบำบัดของเขาว่า ปัญหาทางจิตใดๆ ก็ตามล้วนเกิดจากการเก็บกดซึ่งประสบการณ์บางอย่างในจิตใต้สำนึก แม้ว่าจิตรู้สำนึกของเจ้าตัวจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของประสบการณ์อันเป็นต้นตอของปัญหานั้นได้อีกแล้ว แต่ผลลัพธ์ของประสบการณ์อันเป็นต้นตอของปัญหานั้นก็ยังคงทำงานของมันอยู่ (อธิบายง่ายๆ คือสติได้ลืมประสบการณ์เหล่านั้นไปหมดสิ้นแล้วก็จริง แต่ปัญหาตกค้างมันจะยังอยู่ต่อไปเรื่อยๆ)
ในสมัยนั้น ฟรอยด์ จึงใช้การสะกดจิตในการทำให้ผู้ป่วยของเขาสามารถระลึกย้อนกลับไปยังเหตุการณ์อันเป็นต้นเหตุของปัญหาอีกครั้ง โดยเขาเชื่อว่าการได้ระบายออกซึ่งความเก็บกดเท่านั้นแหละ ที่จะเป็นการบำบัดปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
โดยเทคนิคการสะกดจิตย้อนอดีตนี้เรียกว่าการทำ "คาธาสิท"
แต่อย่างไรก็ตาม ฟรอยด์ ก็ต้องพบเข้ากับปัญหาทางเทคนิดมากมายในงานบำบัดของเขา เช่นพบว่าประสบการณ์ที่ได้รับรู้ภายในกระบวนสะกดจิตย้อนอดีตนั้น มีแนวโน้มสูงทีเดียวที่มันจะถูกบิดเบือนหรือแต่งเติมจิตนาการบางอย่างเข้าไปเสียจนไม่สามารถเป็นข้อเท็จจริงได้ และบ่อยครั้งความบิดเบือนเหล่านั้นก็ก่อให้เกิดปัญหาตามมา จนในที่สุด ฟรอยด์ ก็ตัดสินใจยกเลิกวิธีการบำบัดด้วยการย้อนอดีตของเขาลง แล้วหันไปใช้วิธีการใหม่ที่เขาเห็นว่าเหมาะสมกว่า นั่นก็คือการทำ Free Association ซึ่งเป็นการพูดคุยกับผู้รับการบำบัดขณะที่ยังมีสติในสภาวะกึ่งสะกดจิตแทน (ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถที่จะพูดอะไรออกมาก็ได้อย่างอิสระ ซึ่งนักบำบัดจะสังเกตและเก็บข้อมูลเหล่านั้นเอาไว้เพื่อใช้วิเคราะห์ต้นตอของปัญหากันต่อไป)
แม้ว่า ฟรอยด์ จะไม่พบความสำเร็จกับการบำบัดด้วยการสะกดจิตย้อนอดีต แต่ก็มีนักสะกดจิตอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงยืนยันที่จะคงใช้ทิคนิคย้อนอดีตนี้ในการบำบัดปีญหาทางใจเรื่องมาจนถึงทุกวันนี้
(ทุกวันนี้กระบวนการสะกดจิตสมัยใหม่ก้าวข้ามเทคนิคการย้อนระลึกอดีตไปใกลโขแล้ว)
และจากหลักการพื้นฐานที่ว่า "จิตใต้สำนึกคือคลังข้อมูลของชีวิต" ทำให้มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่มีพื้นฐานความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของภพชาติ นำไปขยายความต่อว่า บรรดาความทรงจำต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชาติก่อนๆ ไม่ว่าจะกี่ชาติกี่ภพก็ตาม ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่ถูกเก็บบันทึกอยู่ภายในจิตใต้สำนึกทั้งสิ้นอย่างไม่มีวันเสื่อมสลาย
และจากความเชื่อนี้เอง ก็ได้นำไปสู่การทดลองนำเอาการสะกดจิตย้อนอดีตมาใช้เพื่อการระลึกชาติ จนในที่สุดก็พัฒนาออกเทคนิคสะกดจิตระลึกชาติดังที่นิยมใช้กันอยู่ในทุกวันนี้
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการสะกดจิตระลึกชาตินั้นพัฒนาต่อมาจากการสะกดจิตย้อนอดีต ดังนั้นในทางสาระของการปฏิบัติแล้วสองวิธีการนี้จึงมีลักษณะคล้ายๆ กัน
คือนักสะกดจิตจะใช้วิธีการพูดชักจูงจินตนาการของผู้ถูกสะกดจิต โดยส่วนมากแล้วนักสะกดจิตจะสร้างภาษาสัญลักษณ์ (อุบาย) บางอย่างขึ้นมาเป็นตัวแทนของการเดินทางไปสู่อดีต เช่นให้จิตนาการว่าเดินอยู่ในอุโมงค์แคบไปเรื่อยๆ จิตนาการว่ากำลังเดินลงบันได จิตนาการว่ากำลังเปิดประตูเข้าไปยังอีกห้องหนึ่ง หรืออื่นๆ สุดแท้จะคิดสร้างสรรค์กันขึ้นมา ทั้งหมดก็เพื่อนำพาจิตนาการ (ซึ่งก็คือจิต) ของผู้ถูกสะกดจิตให้นึกย้อนไปยังเรื่องราวในอดีตของพวกเขาตามที่นักสะกดจิตต้องการ
สำหรับการสะกดจิตระลึกชาติก็ใช้วิธีการเช่นเดียวกัน เพียงแต่ปลายทางสุดท้ายแทนที่จะถูกกำหนดให้เป็นช่วงเวลาในอดีตก็จะถูกกำหนดให้เป็นชาติก่อนแทน
เพื่อการนี้นักสะกดจิตอาจจะสร้างภาษาสัญลักษณ์บางอย่างขึ้นมาเป็นตัวแทนของการก้าวข้ามภพชาติ (ซึ่งควรจะเป็นอะไรที่ดูยิ่งใหญ่ ไม่ธรรมดา หรือสื่อความหมายไปในทำนองนั้นซักหน่อย) เช่นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ประตูลึกลับสีขาวที่ตั้งเด่นอยู่กลางห้อง(คล้ายๆ ประตูโดเรม่อน) กระจกวิเศษบานใหญ่สำหรับฉายเรื่องราวในชาติก่อน หรืออื่นๆ (เช่นการย้อนกลับไปสู่ครรภ์ของมารดา) สุดแท้แต่จิตนาการของนักสะกดจิตสะสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยมีจุดมุ่งหมายเพียงหนึ่งเดียวก็คือการชักจูงจิตนาการในห้วงภวังค์ของผู้ถูกสะกดจิตให้นึกย้อนไปยังเรื่องราวในภพชาติก่อนๆ ของพวกเขา
หลังจากนั้นนักสะกดจิตก็จะถามผู้ถูกสะกดจิตไปเรื่อยๆ ว่าเห็นอะไรบ้าง ซึ่งตัวผู้ถูกสะกดจิตก็จะเล่าเรื่องที่เขาได้ภพเจอในห้วงจิตนาการของเขาออกมาให้ฟัง กระบวนการนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงจุดที่พอใจจึงจะเสร็จสิ้นขั้นตอนการสะกดจิต
สรุปง่ายๆ ตรงนี้ว่าเทคนิคการย้อนอดีตและระลึกชาติคือเทคนิคแบบเดียวกัน เพียงแต่กันที่ปลายทางของเนื้อเรื่องนิดหน่อยเท่านั้น
เมื่อเป็นดังนี้แล้วจึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมนักสะกดจิตหลายคน (รวมถึงผมด้วย) จึงสามารถทำกระบวนสะกดจิตระลึกชาติได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่ก็ไม่ได้นึกเชื่อถือว่าประสบการณ์ต่างๆ ที่พบเห็นในห้วงภวังค์เหล่านั้นจะเป็นเรื่องราวในชาติก่อนจริงๆ ด้วยเหตุผลว่ามันเห็นได้ชัดว่าภาพหรือประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนสะกดจิตระลึกชาติล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากจิตนาการของจิตใต้สำนึกภายใต้อำนาจการจักจูงของนักสะกดจิตผ่านทางคำพูดของพวกเขา
ส่วนคนที่เชื่อก็ย่อมต้องมีเป็นเรื่องธรรมดา
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจหากเราจะพบต่อไปอีกว่าประสบการณ์ภายในห้วงภวังค์การสะกดจิตระลึกชาติจะมีรายละเอียดที่โน้มเอียงไปตามรสนิยม ความเชื่อ หรือค่านิยมของตัวผู้ถูกสะกดจิตเองนั่นแหละ เช่นคนที่ฝักใฝ่วัฒนธรรมจีนก็มีแนวโน้มที่ย้อนชาติกลับไปเป็นคนจีน หรือคนที่กำลังนิยมเรื่องเทพนิยายไอยคุปต์ก็จะมีแนวโน้มสูงที่จะได้เห็นตนเองเคยเป็นชาวอียิปต์ในชาติใดชาติหนึ่ง
และเนื่องจากมันเป็นกระบวนการของจิตใต้สำนึก ดังนั้นบางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นไปตามสไตล์ของจิตใต้สำนึก นั่นก็คือบ่อยครั้งที่จิตรู้สำนึกของเจ้าตัวเองก็ไม่ได้รู้ทันจิตใต้สำนึกว่ามันมีความประทับใจกับเรื่องใดเป็นพิเศษอยู่ (โปรดอย่าลืมว่าจิตใต้สำนึกคือพื้นที่ในสมองที่จิตรู้สำนึกหรือก็คือตัวตนของเรานั่นเองเข้าไปไม่ถึง) ดังนั้นบ่อยครั้งจึงพบได้ว่าประสบการณ์ที่ได้รับจากการละลึกชาติเป็นเรื่องที่ (ดูเหมือนว่า) จะพ้นออกจากกรอบความสนใจของตัวเองอยู่บ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปรกติอะไร
หากรู้ไม่ทันกลไกตรงนี้ก็อาจจะเข้าใจไปได้ว่าชาติก่อนสามารถเคยเป็นอะไรที่แปลกๆ นอกเหนือความสนใจ (ของจิตรู้สำนึก) ในชาตินี้ได้ด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้ หลักฐานคือการไม่สามารถย้อนไปยังชาติก่อนที่มีรูปแบบนอกเหนือกรอบความรู้ของชาติปัจจุบัน (เช่นคนไม่เคยรู้จักชนเผ่ากรูข่าในเนปาลก็ไม่มีวันที่จะระลึกชาติก่อนว่าเคยเป็นชนเผ่าที่ว่านี้ได้โดยเด็ดขาด)
ดังนั้นแล้วจึงอาจจะสรุปง่ายๆ ได้ดังนี้ว่า
"ไม่ใช่ว่าเพราะชาติก่อนเป็นอย่างนั้นปัจจุบันเราจึงเป็นอย่างนี้ ...แต่เพราะปัจจุบันเราเป็นอย่างนี้ต่างหากเราจึงเห็นเห็นชาติก่อนเป็นอย่างนั้น"
เรื่องของการสะกดจิตระลึกชาติที่อยากกล่าวถึงมีเพียงเท่านี้
หมายเหตุ - ผมเคยเจอคนที่สะกดจิตระลึกชาติแล้วบอกว่าชาติก่อนตัวเองเป็นทหารของกวนอู เคยถือง้าวให้กวนอูทั้งๆ ที่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่าง้าวเป็นอาวุธสมัยราชวงค์ซ่งซึ่งเกิดหลังยุคสามก๊กอยู่นับพันปี เคยเจอคนที่บอกว่าตัวเองเป็นกัปตันกองเรือรบของทหารจีนสมัยสงครามโลกครั้งที่สองทั้งๆ ที่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองประเทศจีนไม่มีกองเรือรบ เคยเจอคนบอกชาติก่อนเป็นชาวอียิปต์สมัยพระเจ้าราเมซิสแต่ตอบไม่ได้ว่าอาหารอียิปต์ที่คยกินทุกวันในสมัยนั้น มีหน้าตาเป็นอย่างไรหรือชาวบ้านสมัยนั้นทำผมทรงอะไร เคยเจอคนที่บอกว่าตัวเองเป็นชาวอยุธยาสมัยก่อนกรุงแตกเล่าเรื่องราวของตัวเองได้มากมายใหญ่โตแต่กลับไม่รู้จักธรรมเนียมเข้า ๖ เดือนออก ๖ เดือนของไพร่สมัยอยุธยาได้ หรืออะไรแนวๆ อย่างนี้อีกมากมายจนไม่สามารถยกมากล่าวถึงได้จนหมดสิ้น