สะกดจิตเพื่อลบความทรงจำ

   


ในฐานะของนักสะกดจิต มีคำถามหนึ่งที่มักจะได้รับอยู่เป็นประจำว่า เราสามารถใช้การสะกดจิตทำให้ความทรงจำที่มีต่อบางสิ่งหรือบางช่วงเวลาหายไปได้หรือไม่?
 
เพื่อไปให้ถึงคำตอบของคำถามนี้เราจะมาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า “ความทรงจำ” กันก่อน
 
เมื่อเราประสบกับเหตุการณ์ต่างๆ ระบบประสาทสัมผัสของร่างกายเราจะได้รับข้อมูลจำนวนหนึ่ง ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปประมวลผลทำให้เกิดสภาวะอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดซึ่งจะนำไปสู่การแสดงออกในรูปของพฤติกรรมต่างๆ ในที่สุด ในการนี้ระบบประสาทของเราจะทำการบันทึกข้อมูลเหล่านี้เก็บเอาไว้ด้วยเพื่อใช้เปรียบในการประมวลผลข้อมูลในรอบต่อๆ ไป ข้อมูลที่ถูกบันทึกเอาไว้พวกนี้เรียกว่า “ความทรงจำ” โดยความทรงจำจะถูกบันทึกเอาไว้ที่เซลล์ประสาทส่วนบันทึกความทรงจำในสมองของเรา
 
นั่นหมายความว่า โดยทฤษฏีแล้ว เมื่อสมองได้บันทึกความทรงจำใดๆ แล้ว ข้อมูลนั้นจะถูกบันทึกอยู่อย่าถาวรจนกว่าที่เซลความจำส่วนนั้นจะเสื่อมชำรุดหรือได้รับความเสียหาย (ไม่ว่าจะเนื่องมาจากการกระทบกระเทือนหรือการติดเชื้อ เป็นต้น) ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วเราก็ยังคงลืมต่อเรื่องบางเรื่องได้อยู่ดี
 
ถ้าเราเปรียบสมองของเราเป็นตู้เก็บเอกสารขนาดใหญ่และความจำทั้งหลายเป็นเหมือนกับเอกสารในตู้ นี่ก็คงเป็นตู้เก็บเอกสารที่มีขนาดใหญ่โตมาก แต่ไม่ว่าจะใหญ่โตเพียงใดก็ตามตู้มันก็ย่อมต้องมีขีดจำกัดในการบรรจุเอกสารลงไปอย่างแน่นอน (อาจจะเต็มช้าหน่อยแต่ซักวันก็ต้องเต็ม) อีกทั้งการมีเอกสารเก็บในตู้มากเกินไปก็เป็นภาระอย่างใหญ่หลวงเมื่อเราจำเป็นที่จะต้องค้นหาบางสิ่ง นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้สมองมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกบางอย่างขึ้นมาสำหรับจัดการกับพื้นที่จัดเก็บความจำของเรา
 
วิธีการนั้นเรียบง่ายมาก โดยสมองและระบบประสาทก็จะทำการพิจารณาว่าข้อมูลตัวใดสำคัญหรือไม่สำคัญ
 
ข้อมูลใดก็ตามที่สมองและระบบประสาทพิจารนาแล้วว่าสำคัญ เช่นข้อมูลที่ได้รับซ้ำๆ หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติญาณการดำรงชีวิต ข้อมูลพวกนี้จะถูกบันทึกลงในเซลล์ความจำอย่างแน่นหนาเพื่อให้แน่ใจว่าว่ามันจะไม่เสื่อสลายไปตามกาลเวลาง่ายๆ และระบบประสาทในร่างกายก็สามารถนำมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว
 
ส่วนข้อมูลที่พิจารนาแล้วเห็นว่าไม่สำคัญ (เช่นข้อมูลจากความฝัน ข้อมูลที่ได้รับมาผ่านๆ ข้อมูลที่ไม่มีส่วนข้องต่อการดำเนินชีวิต หรืออื่นๆ) ข้อมูลเหล่านี้จะถูกลดรายละเอียดลง (คล้ายๆ ภาพถ่ายที่ย่อจนมีขนาดเล็กเพื่อที่จะได้ไม่เปลืองพื้นที่เก็บแต่ภาพก็เสียรายละเอียดไปด้วยเช่นกัน) แล้วบันทึกในเซลความจำส่วนที่การใช้งานทั่วไปเข้าไม่ค่อยถึง ด้วยเหตุหนี้จึงทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกเรียกใช้ได้ยาก ซึ่งก็คือที่มาของการลืมอย่างชั่วคราว และเนื่องจากเซลล์ประสาทของความจำเหล่านี้สร้างมาอย่างหลวมๆ ดังนั้นหากเซลล์ข้อมูลนี้ไม่ได้ถูกเรียกใช้เลยนานวันเข้า เซลก็อาจจะเสื่อมสภาพไปตามการร่วงโรยของสังขาร ซึ่งก็จะนำไปสู่การลืมอย่างถาวรในที่สุด
 
เมื่อเราย้อนกลับมาที่เรื่องของการสะกดจิตลบความจำ เราจะพบว่าการเรียกร้องให้สะกดจิตลบความทรงจำนั้นล้วนแล้วแต่เป็นความต้องการที่จะลบเหตุการณ์หรือบุคคลที่ทำให้เกิดความสะเทือนใจทางอารมณ์ทั้งสิ้น
 
เราต้องไม่ลืมว่าปัจจัยหนึ่งที่สมองใช้ตัดสินใจว่าเหตุการณ์ใดสำคัญก็สืบเนื่องจากเหตุการณ์อันเกี่ยวข้องต่อการดำรงชีวิต อธิบายง่ายๆ ว่ายิ่งตื่นเต้น ยิ่งหวาดเสียว ยิ่งน่ากลัว ยิ่งสะเทือนใจ สมองก็ยิ่งเห็นว่าเรื่องพวกนี้สำคัญ จะต้องบันทึกเอาไว้อย่างแน่หนาถาวร มีความชัดเจนสูงสามารถที่เรียกกลับมาใช้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่ว่าจะได้เป็นบทเรียนคอยเตือนเราไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำอีก (อันอาจจะส่งผลต่อการดงรงชีวิตของเราได้) นี่ก็เป็นต้นเหตุที่ว่าทำไมความทรงจำแบบที่ไม่น่าจดจำเหล่านี้จึงชัดเจน อยู่ทน และมักย้อนกลับขึ้นมาหลอกหลอนเราอยู่บ่อยๆ
 
จากเงื่อนไขเหล่านี้จะเห็นว่า ความจริงแล้วเราไม่สามารถที่จะใช้เทคนิคการสะกดจิตทำให้สมองสุญเสียความทรงจำบางส่วนไปได้เลย ทั้งนี้ก็เพราะว่า “การสะกดจิตนั้นเป็นการสร้างเรียนรู้ในระดับจิตใต้สำนึก” ซึ่งก็ไม่ได้มีความสามารถที่จะไปทำให้เซลความจำส่วนใดเกิดการเสื่อมสลายหรือเสียหายได้แต่อย่างใด ยิ่งความจำที่เป็นบทเรียนสำคัญที่มีการบันทึกลงเซลความจำกันอย่างแน่นหนาถาวรก็ยิ่งไม่สามารถไปทำอะไรกับมันได้เลย (จะรอให้มันเสื่อมเองก็คงนานโขอยู่)
 
ดังนั้นตามทฤษฏีแล้วจึงอาจจะกล่าวได้ว่า “เราไม่สามารถสะกดจิตให้สูญเสียความทรงจำได้” แต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ การสะกดจิตเพื่อลบเลือนความทรงจำนั้น “ย่อมสามารถกระทำได้”
 
ทำได้อย่างไร?
 
สำหรับการสะกดจิตเพื่อลบเลือนความทรงจำนั้น จะอาศัยแนวคิดแบจิตวิทยาแนวมนุษย์นิยม (Humanism) โดยจะมุ่งเน้นไปที่การสร้าง “การยอมรับ” ต่อความทรงจำที่ไม่พึงประสงค์นั้นในระดับจิตใต้สำนึก เช่นถ้าต้องการสะกดจิตลืมบุคคลบางคน ก็เน้นไปที่การให้อภัย (ถ้ามีเหตุบาดหมางกัน) หรือยอมรับต่อเหตุการณ์ที่ที่บุคลนั้นและผู้รับการสะกดจิตมีปมปัญหาต่อกันอยู่ เมื่อจิตใต้สำนึกเกิดการเรียนรู้ที่ยอมรับอย่างแท้จริง สภาพอารมณ์อันเป็นผลการทำงานจากจิตใต้สำนึกก็จะพัฒนาไปสู่ “การวางเฉย” ซึ่งการวางเฉยนี้เองจะทำให้เหตุการณ์หรือบุคคลในความทรงจำนั้นค่อยๆ ถูกลดความสำคัญลง อันจะนำไปสู่การลืมเลือน (ไม่ใส่ใจ) ต่อความทรงจำนั้นในที่สุด