พลังของความยืดหยุ่น
กฏเกณฑ์อันเป็นข้อบังคับต่างๆ มักถูกสร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันความผิดพลาดไม่ให้เกิดซ้ำสอง หรือไม่ก็ถูกใช้เป็นตัวป้องกันล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เรื่องร้ายแรงแรงบางอย่างขึ้นมา
โดยรวมแล้วเรื่อของกฏเกณฑ์จึงเป็นสิ่งที่จะขาดไปจากชีวิตเราไม่ได้
อาจจะกล่าวได้ว่าชีวิตหรือสังคมที่ไร้กฏเกณฑ์นั้นยากที่จะไปรอด ไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม
แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งกฏเกณฑ์เหล่านี้ก็ก่อปัญหาให้กับเราได้ไม่น้อยเหมือนกัน
ยกตัวอย่างเช่นตอนนี้มีปัญหาโรคระบาดหนัก รัฐเขาก็ประกาศเคอร์ฟิว เป็นกฏเกณฑ์ที่จะไม่ให้คนออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม (ในแต่ละจังหวัดอาจมีรายละเอียดตรงนี้แตกต่างกันออกไป) ใครเกิดแหล็มออกไปนอกบ้านหลัก 4 ทุ่มก็โดนจับ ติดคุกเสียค่าปรับอะไรก็ว่ากันไป
ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบก็ต้องทำ เพราะกฏมันว่ามาอย่างนั้น
แล้วสมมุติว่าถ้าเกิดปวดไส้ติ่งจะแตกขึ้นมาตอน 5 ทุ่มเที่ยงคืนไปแล้วล่ะ
กฏว่าไม่ให้ออกไปไหนหลัง 4 ทุ่มแต่ถ้าไม่ไปหาหมอก็มีหวังตายแน่ๆ
จะทำยังไง?
เพราะฉะนั้นในความเป็นจริงกฏเกณฑ์ข้อห้ามต่างๆจึงมักมีการเปิดช่องให้ยืดหยุ่นกันได้บ้างตามความเหมาะสม เช่น ห้ามออกจากหลัง 4 ทุ่มก็จริงแต่ถ้าจำเป็นจริงๆแบบไส้ติ่งจะแตกแบบนี้ก็ออกไปโรงพยาบาลได้ ไม่มีใครว่าอะไรหรอก
นี่คือประโยชน์ของความ “ยืดหยุ่น” (flexible)
คนส่วนมากอาจคิดว่าความยืดหยุ่นทำให้กฏเกณฑ์ทั้งหลายเสื่อมคลายประสิทธิภาพลง แต่เปล่าเลย ความจริงแล้วความยืดหยุ่นกลับเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้กฏเกณฑ์ทั้งหลายเพิ่มประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น
สิ่งสำคัญคือต้องใช้ความยืดหยุ่นด้วยความสร้างสรรค์ ใช้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ว่าสักแต่จะยืดหยุ่นผ่อนปรนเพื่อความสะดวกสบายส่วนตัว
กฏห้ามออกนอกบ้านหลัง 4 ทุ่มอาจฆ่าคนได้ จนกระทั่งเราเติมความยืดหยุ่นเข้าไปมันจึงสมบูรณ์ แต่ถ้าเราใช้ความยืดหยุ่นฟุ่มเฟือยแบบไร้สาระ กฏเกณฑ์ก็จะพังลง เพราะจากยืดหยุ่นจะกลายเป็นหย่อนยานแทน
ความจริงอะไรก็ตามที่มากเกินไปหรือน้อยเกิดไปล้วนก่อปัญหา ข้อนี้เป็นสัจธรรมง่ายๆ ที่เข้าใจกันได้ไม่ยาก
หลักการที่สำคัญก็คือ “คนสร้างกฏ"
เพราะฉะนั้นกฏจึงมีหน้าที่รับใช้คน ไม่ใช่ให้คนอยู่ภายใต้การผูกมัดของกฏที่ตัวเองสร้างขึ้นอย่างไร้ความเฉลียวฉลาด
ข้อนี้สำคัญมาก
เพราะสำหรับกฏเกณฑ์ต่างๆ ในชีวิตก็เช่นกัน มนุษย์เรามักสร้างเงื่อนหรือกฏเกณฑ์ต่างๆในชีวิตขึ้นมามากมาย
บ้างก็เพื่อเพื่อป้องกันความผิดพลาดไม่ให้เกิดซ้ำสอง หรือบ้างก็ใช้เป็นตัวป้องกันเหตุล่วงหน้า ไม่ได้ต่างจากกฏเกณฑ์ทางสังคม
“โอ้ ฉันเคยถูกหลอกมาแล้ว เพราะฉะนั้นฉันจะไม่หลวมตัวช่วยใครอีกเด็ดขาด”
“ฉันเคยถูกแฟนทิ้ง มันเจ็บปวดมาก เพราะฉะนั้นฉันจะไม่รักใครอีก”
“ฉันเป็นพี่ อย่างไรฉันก็ต้องช่วยน้อย ไม่ว่าเขาจะทำขนาดไหนฉันก็ต้องช่วย”
“เราเคยร่ำรวยมีคนนับหน้าถือตามมากมาย เพราะฉะนั้นจะให้ใครรู้ไม่ได้เด็ดขาดว่าตอนนี้เรากำลังลำบาก”
“ฉันต้องมีสามสิบล้านก่อนอายุสามสิบห้า เพราะถ้าทำไม่ได้ฉันจะล้มเหลวในชีวิต”
“ลูกฉันต้องเป็นหมอ เพราะบ้านเราเป็นหมอมาตั้งแต่รุ่นปู่”
ก็สารพัดกฏเกณฑ์ที่จะถูกตั้งขึ้นมา
ถ้ากฏเกณฑ์เหล่านี้เป็นกฏเกณฑ์ที่สร้างสรรค์จริง เมื่อกำหนดขึ้นมาแล้วมันควรที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข มีความเจริญรุ่งเรืองหรืออย่างน้อยก็ต้องไม่มีความทุกข์
ถ้าดีก็ทำต่อไปเถอะครับ
แต่คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วถ้ามันไม่สร้างสรรค์ล่ะ?
ถ้ากฏเกณฑ์เหล่านี้ดูเหมือนว่ากำลังก่อปัญหาบางอย่างขึ้น เป็นเหมือนเชือกที่กำลังรัดคอ และค่อยๆ ดึงเราให้จมลงไปในบึงน้ำล่ะ?
มันทำให้เกิดความเครียด มันทำให้ครอบครัวร้อนเหมือนไฟ มันทำให้เกิดภาระรกรุงรังตามมาอีกมากมาย เราจะทำอย่างไรกับกฏเกณฑ์เหล่านี้?
ทำไมเราจะไม่เพิ่มความ “ยืดหยุ่น” ให้มากอีกซักหน่อยล่ะ?
อย่างที่เคยบอกไปนั่นแหละว่าคนสร้างกฏ เพราะฉะนั้นกฏจึงมีหน้าที่รับใช้คน
กฏเกณฑ์เหล่านี้ความจริงเราเป็นคนสร้างมันขึ้นมาเองแท้ๆ (จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม) เพราะฉะนั้นมันจึงควรรับใช้เรา และไม่ควรทำให้เราเป็นทุกข์
ดังนั้นถ้ารู้สึกว่ามันกำลังเป็นทุกข์ นั่นเป็นหลักฐานสำคัญที่จะยืนยันว่ากฏเกณฑ์เหล่านั้นกำลังไม่เข้าท่า ไม่สร้างสรรค์ และเราก็สมควรอย่างยิ่งที่จะทำอะไรซักอย่างกับมัน
ก็ควรคลายมันออก แล้วเติมความยืดหยุ่นเข้าไปอีกซักนิด
เชื่อเถอะ คุณทำได้ เหตุผลเพราะกฏเกณฑ์ต่างๆ ทั้งหมดนั้นความจริงเราล้วนแต่สร้างมันขึ้นมาเองทั้งสิ้น
สำคัญคือคุณต้องยอมรับว่ากำลังมีปัญหา
และยอมรับกฏของความยืดหยุ่นว่ามันช่วยจัดการปัญหาให้กับเราได้