พฤติกรรมอันนำไปสู่ความล้มเหลวในตลาดหุ้น (ตอนที่ 3)
++ “โลเล” ++
คำว่าโลเลในที่นี้แตกต่างจากคำว่าลังเลที่ได้เคยกล่าวถึงไปแล้ว เพราะคำว่าโลเลในที่นี้หมายถึงการเปลี่ยนแผนหรือเปลี่ยนระบบการเทรดแบบกระทันหัน เปิดออเดอร์ด้วยระบบ A แต่ดันไปปิดด้วยระบบ C หรือ D
ในยุทธจักรนักลงทุนมีข่าวสารมากมายเป็นจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นข่าวการเมือง ข่าวเศรษฐกิจ หรืออื่นๆ นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องของข้อมูลเทคนิคในการเทรดเองนี่แหละที่จะหลั่งไหลเข้ามาในการรับรู้อยู่เรื่อยๆ
เซียนคนนี้ว่าอย่างนี้ ส่วนกูรูคนนั้นว่าอีกอย่างหนึ่ง แต่ละคนต่างมีระบบเทรดของตัวเอง และแน่นอนว่าทุกคนยืนยันว่าระบบเทรดของตัวเองดีแน่ๆ
หลักการพื้นฐานคือเมื่อนักลงทุนเมื่อตัดสินใจใช้ระบบเทรดแบบใดไปแล้วความจริงก็ควรใช้ระบบนั้นไปให้ตลอดจนกว่าจะปิดออเดอร์นั้นลงไป
แต่หลายคนก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น เพราะพอเทรดไปซักระยะหนึ่งแล้ว พอดีว่าไปเจอกับระบบเทรดใหม่ๆ ซึ่งดูเหมือนว่าจะน่าสนใจมากกว่าระบบเดิมที่เคยใช้อยู่ (อาจจะไปอ่านเจอมา ฟังกูรูเขาพูดมา หรืออื่นๆ) พวกเขาก็จะรีบเปลี่ยนแผนการเทรดไปใช้เป็นระบบใหม่ซึ่งคิดว่าน่าจะดีกว่าในทันที การทำแบบนี้ไม่มีประโยชน์อะไรเลย มีแต่ทำให้แผนการที่วางเอาไว้ยุ่งเหยิงสับสนจนยากที่จะประสบความสำเร็จ
"เมื่อจะไปให้ถึงเส้นชัย เราต้องการความมุ่งมั่นที่จะไปให้ถึง ไม่ใช่การเปลี่ยนเส้นทางไปเรื่อยๆ"
++ “ข่าวเด็ด” ++
เพื่อนผมคนนึงเคยกล่าวไว้ว่าในตลาดหุ้นไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าข่าวเด็ดอีกแล้ว หุ้นตัวนี้กำลังมา หุ้นตัวนี้ต้องรีบขาย ในแวดวงยุทธจักรนักเล่นหุ้น ข่าวซุบซิบปากต่อปากแบบนี้เป็นเรื่องที่พบได้บ่อยๆ ไม่เว้นแต่ละวัน
คำถามที่สำคัญก็คือเราจะเชื่อข่าวพวกนี้ได้มากน้อยขนาดไหน? ในความเป็นจริงเราไม่มีโอกาสรู้เลยว่าเบื้องหลังของข่าวเด็ดเหล่านี้คือจุดประสงค์อะไร บางทีข่าวนี้อาจจะเด็ดจริงแต่เด็ดเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนก็ได้ กว่าจะมาถึงเรามันก็กลายเป็นข่าวดับไปนานแล้ว
"ใครหลงเชื่อข่าวพวกนี้ก็หนีไม่พ้นกระต่าย (ตื่นตูม) หรือไม่ก็แมงเม่า (บินเข้ากองไฟ)"
นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จ พวกเขาจะเชื่อการวิเคราะห์ของตัวเองเท่านั้น บรรดาข่าวเด็ดทั้งหลายก็ย่อมฟังเอาไว้ได้ แต่ฟังแล้วก็อย่าเพิ่งเชื่อถือ เรื่องราวทั้งหมดจะจริงเท็จขนาดไหนก็ต้องลองตรวจสอบ ลองวิเคราะห์ ไตร่ตรองด้วยสติปัญญาของตนเองเสียก่อนเท่านั้นจึงจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี
"ฟังปุ๊บเทรดปั๊บอย่าสงสัยว่าทำไมไปไม่รอด"
แต่ก็นั่นแหละ สมองของเรามันมีแนวโน้มที่จะเชื่ออะไรก็ตามที่มันคิดว่าน่าเชื่อถือ และเจ้ากรรมว่าความน่าเชื่อถือที่ว่านี้ไม่ได้มาจากรายละเอียดของตัวข้อมูลเองเสมอไป
บ่อยครั้งที่ความน่าเชื่อถือมันเกิดจากสิ่งที่ไร้ความน่าเชื่อถือด้วยซ้ำไป เช่นความโด่งดังของคนพูด (ซึ่งบางทีคือใครก็ไม่รู้) หรือปริมาณที่ผู้คนกำลังโหมสะพัดข่าวนี้อยู่ (ยิ่งลือกันมากๆ ก็ยิ่งอดใจเชื่อไม่ไหว)
“สมองมันอ่อนไหวเมื่อไหร่ก็เสร็จ”
++++++++++++++++++++++++++
ความจริงยังมีปัญหาอีกมากซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตใจของบรรดานักลงทุน ที่ยกมานี้คงเป็นส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะพบได้บ่อยๆ หรือเป็นปัญหาหลักซึ่งพบได้โดยทั่วไป
นักลงทุนที่มากประสบการณ์ หรือนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จหลายคนก็สามารถก้าวข้ามพ้นไปได้ด้วยตัวเอง
แต่หลายคนก็ไม่ใช่ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็เกิดขึ้นอีกวนเวียนซ้ำไปซ้ำมาอยู่อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ที่ถอดใจ (รวมถึงทุนหมดด้วย) จนต้องหันหลังเดินออกจากตลาดมีมากมายเสียจนนับไม่ถ้วน
"ความจริงปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้"
มีวิธีการมากมายซึ่งเราสามารถนำมาใช้ในการจัดการปัญหาเหล่านี้อย่างได้ผล ไม่ว่าจะเป็นการฝึกทำบัญชี การจดบันทึกการเทรด หรืออะไรอื่นๆ อีกมากมายซึ่งช่วยพัฒนาระเบียบวินัยและความเข้มแข็งทางด้านจิตใจในการเทรด (เคยได้ยินบางคนแนะนำให้ไปเข้าวัดทำสมาธินั่งวิปัสสนาฝึกจิตใจให้แก่กล้าก็ยังมี)
ในฐานะที่ผมเป็นนักสะกดจิตบำบัด ความจริงปัญหาที่ว่ามาเหล่านี้หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่ามีพื้นฐานมาจากการทำงานของจิตใต้สำนึกทั้งสิ้น เพราะล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาในเชิงอารมณ์หรือความเคยชิน (ความโลภนี่ตัวดีเลย แทบจะเป็นต้นกำเนิดของปัญหาทั้งหมด)
ดังนั้นวิธีการสะกดจิตบำบัด (hypnotherapy) จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการแก้ไขปัญหา เพราะมีความสะดวกและให้ผลเร็ว (หากมีองค์ประกอบพร้อม)
โดยวิธีการสะกดจิตบําบัดจะมุ่งตรงเข้าไปสร้างการเรียนรู้ให้กับจิตใต้สำนึก ทำให้จิตใต้สำนึกได้เรียนรู้และตระหนักว่ามันควรที่จะทำตัวอย่างไรจึงจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด
ถ้าหากคุณเป็นนักลงทุนและกำลังมีปัญหาในส่วนที่เป็นเกมทางจิตใจอยู่ บางทีวิธีการสะกดจิตบําบัดอาจเป็นหนทางหนึ่งซึ่งช่วยทำให้คุณประสบความสำเร็จในการเป็นนักลงทุนของคุณได้อย่างแท้จริง
ผู้ที่มีจิตใต้สำนึกทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ คือผู้ได้เปรียบเสมอ