ปริศนาบานประตู
คุณเอื้อมมือไปจับลูกบิดประตู หมุนข้อมือบิดมัน แล้วดึงเข้าหาตัว จากนั้นประตูก็ถูกเปิดออก
ในชีวิตประจำวัน คุณเคยทำอย่างนี้กับประตูบานแล้วบานเล่าจนมันกลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อคุณต้องการจะเปิดประตู คุณไม่ต้องคิดเลยว่าจะต้องทำอย่างไรกับมันดี จะต้องใช้มือซ้ายหรือมือขวา จะต้องใช้นิ้วหรือข้อมืออย่างไร ทุกสิ่งมันเกิดขึ้นของมันเองอย่างรวดเร็ว และเป็นธรรมชาติ
นี่คือสิ่งที่เราเรียกมันง่ายๆ ว่า "ความเคยชิน" ซึ่งถูกสะสมอยู่ภายในจิตใต้สำนึกของเราทุกคน
วันหนึ่ง เมื่อประตูบานใหม่มาอยู่ตรงหน้า ข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ นี่คือประตูที่คุณไม่เคยเปิดมันมาก่อนในชีวิต
ทันใดนั้นสมองของคุณก็สั่งให้เอื้อมมือไปบิดลูกบิด แล้วดึงบานประตูเข้าหาตัว ทุกสิ่งมันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยอาศัยความ "เคยชิน" จากจิตใต้สำนึกของคุณ
ในความเป็นจริงแล้วคุณไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับประตูบานนี้ว่ามันเป็นอย่างไร มันใช้งานอย่างไร หรือมันมีรายละเอียดอย่างไร
แต่พอคุณเห็นมัน สมองของคุณก็ตีความหมายว่านั่นคือ "ประตู" (ก็แค่ประตูบานหนึ่ง) แล้วคุณก็ทำกับมันเหมือนกับที่คุณเคยทำกับประตูบานอื่นๆ มาแล้วนับพันนับหมื่นบานในชีวิตของคุณ
จนกระทั่งคุณพบว่า "มันเปิดไม่ได้"
แต่อย่างไรก็ตาม คุณก็ยังคงพยามเปิดมันไปเรื่อยๆ คุณบิดลูกบิดไปมา รวมถึงออกแรงดึงประตูมากยิ่งขึ้น เพราะประตูมันควรจะเปิดออกมาได้ตามความ "เคยชิน" ที่คุณเรียนรู้ซ้ำซากมาตลอดทั้งชีวิต
จนกว่าคุณจะได้สตินั่นแหละ จนกว่าความฉลาดจากจิตรู้สำนึกจะเริ่มทำงาน คุณจึงจะเริ่มเรียนรู้ข้อผิดพลาด และเริ่มมองหามุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับประตูบานใหม่นี้
คุณจะเริ่มทดลองทำสิ่งต่างๆ ที่คุณยังไม่เคยทำ จนกระทั่งค้นพบว่า
"นี่มันเป็นประตูเลื่อน!!!"
ระบบประสาทของเรามันมันก็เป็นอย่างนี้แหละ มันมักจะตอบสนองต่อปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ เสมอ
สำหรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราก็เช่นกัน
เรามักตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการแบบเดิม ถึงแม้ว่าเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิตมันจะเป็นเรื่องใหม่ หรือมีเงื่อนใหม่ๆ มากมาย แต่วิธีการที่สมองของเราใช้มันก็มักจะเป็นวิธีการเดิมๆ เสมอ
และบ่อยครั้งที่วิธีการพวกนั้นมันก่อให้เกิดปัญหาบางอย่างขึ้น แต่สมองก็ยังคงยืนยันที่จะใช้วิธีการแบบเดิมอยู่ต่อไป
มันจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตจึงมักเกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก
ผิวหวังแล้วก็ผิดหวังอีก อกหักแล้วก็อกหักอีก ล้มเหลวแล้วก็ล้มเหลวอีก วนเวียนอย่างนี้เรื่อยไปไม่จบไม่สิ้น
กลายเป็นว่าเราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากมันเลยนอกจากจะตอบสนองมันด้วยวิธีการแบบเดิมๆ แล้วก็ตัดพ้อต่อว่าดวงชะตาว่าช่างโหดร้ายกับเราเสียจริงๆ
จนกว่าเราจะเริ่มยอมรับว่าวิธีการที่ใช้อยู่มันผิดพลาดนั้นแหละ สมองของเราจึงจะสามารถเริ่มเรียนรู้และค้นหาวิธีการใหม่ๆ มาแทนที่วิธีเดิมๆ ได้
ถ้าดึงแล้วมันผิด ก็ต้องลองดัน ถ้าดันแล้วไม่ได้ก็ลองเลื่อน
มันจะต้องซักวิธีการหนึ่งที่ได้ผล!
สำคัญที่สุดก็คือคุณตระหนักหรือยังกว่าการดึงประตูเข้ามาที่คุณกำลังทำอยู่นั้นกำลังผิดพลาด!
คนที่ยอมรับข้อผิดพลาดเท่านั้นจึงจะสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นได้
:)
สำหรับ NLP แล้ว หากคุณต้องการแก้ปัญาหาอะไรซักอย่างที่มักเกิดซ้ำซาก มันไม่มีอะไรที่คุณจะต้องการมากไปกว่า "ความยืดหยุ่น" ในเชิงพฤติกรรมของตัวคุณเองหรอกครับ
:)
"อย่าดื้อ อย่าดันทุรัง แต่จงยอมรับ และเรียนรู้ที่จะแก้ไขมันให้ดียิ่งขึ้น"