ทฤษฎีบุคลิกภาพ: William Glasser

   


ทฤษฎีของ Glasser ทฤษฎีหนึ่งที่โด่งดังได้แก่ Reality Therapy Theory ซึ่งเป็นทฤษฎีการให้คำปรึกษาแบบเผชิญความจริงซึ่งเชื่อว่ามนุษย์แต่ละคนมีพลังแห่งการพัฒนาเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น มนุษย์จะมีความต้องการ และเอกลักษณ์ของตนเอง ซึ่งเอกลักษณ์ของตนเองมีสองประเภทได้แก่
 
เอกลักษณ์แห่งความสำเร็จ (Success identity) เป็นเอกลักษณ์ที่บุคคลมองเห็นว่าตนเองมีความสามารถที่จะตอบสนองความต้องการของตนเอง มีคุณค่า และมีความสำคัญต่อตนเองและบุคคลอื่น มีความรับผิดชอบและเชื่อมั่นในการดำเนินชีวิตของตนเอง และมีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง
เอกลักษณ์แห่งความล้มเหลว (Failure identity) บุคคลประเภทนี้มักจะมองตัวเองในแง่ลบ ไม่สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับคนอื่น รู้สึกว่าตนเองไม่เป็นที่รัก ไม่มีใครต้องการ ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ปล่อยให้สภาพแวดล้อมหรือบุคคลอื่นมีอิทธิพลและควบคุมชีวิต
 
Glasser มองว่ามนุษย์สามารถที่จะพัฒนาเอกลักษณ์ของตนได้หากบุคคลเหล่านั้นมีประสบการณ์ที่สำคัญสองประการคือ ความรัก (love) คือการที่บุคคลสามารถให้ความรักแก่ผู้อื่นและได้รับความรักจากผู้อื่น และ ความมีคุณค่า (worth) ซึ่งคือการที่บุคคลมีความรู้สึกถึงความมีคุณค่าในรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าต่อผู้อื่น
 
ทัศนคติเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ตามทฤษฎีให้การปรึกษาแบบเผชิญความจริง ได้ดังนี้
  1. มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล และมีความรับผิดชอบในชีวิตของตน สามารถที่จะตัดสินใจได้ด้วยตนเองไม่ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ มีต้องการจะประสบความสำเร็จ และมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น
  2. มนุษย์ทุกคนมีความต้องการทางจิตใจ 2 ประการ คือ การได้รับความรักและมีโอกาสให้ความรักแก่ผู้อื่นและการรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีคุณค่าต่อตนเองและผู้อื่น
  3. มนุษย์ต้องการมีเอกลักษณ์ของตน (Need for an identity) ต้องการมีและเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากคนอื่น
  4. แรงจูงใจที่สำคัญในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ คือการพยายามตอบสนองความต้องการของตนซึ่งเป็นแรงจูงใจที่เกิดขึ้นภายในตน ไม่ใช่อิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม
  5. เมื่อมนุษย์มีโอกาสจะเรียนรู้ความรักและได้รักคนอื่น เขาจะรู้สึกว่าตนเองมีค่าทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งจะทำให้มีสุขภาพจิตดี และมีพฤติกรรมที่ถูกต้องมีศีลธรรม
  6. เพื่อคงความรู้สึกมีคุณค่าไว้ ไม่ว่ามนุษย์จะได้รับความรักหรือไม่ เขาต้องพยายามคงพฤติกรรมที่ทำให้ได้รับความพอใจไว้ด้วยการเรียนรู้ที่จะแก้ไขตนเองเมื่อทำผิด และให้รางวัลตนเองเมื่อทำถูกต้อง มีการประเมินพฤติกรรมของตนเองเพื่อพัฒนาตนให้พ้นจากสภาพที่ตนไม่ต้องการ
  7. เมื่อบุคคลเกิดความคับข้องใจในการตอบสนองความต้องการ และเริ่มหลีกหนีความจริงรอบตัว บุคคลจะสูญเสียความสามารถในการรับรู้สิ่งต่างๆตามความเป็นจริง
  8. คนที่มีสุขภาพจิตดี คือ ผู้ที่มีความรับผิดชอบในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิต มีเอกลักษณ์แห่งตนและมีจุดมุ่งหมายในชีวิต
 
ทฤษฎีอีกตัวของ Glasser ที่ได้รับการยอมรับคือ Choice Theory ซึ่งทฤษฎีนี้กล่าวว่า พฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกมานั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากสถานการณ์ภายนอกหรือสิ่งเร้าที่มากระทบ แต่เป็นสิ่งที่ถูกผลักดันจากภายในของบุคคล เพื่อที่จะควบคุมการรับรู้ของตนเองต่อสภาพการณ์หรือสิ่งเร้านั้น การที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลได้นั้น ต้องทำให้บุคคลนั้นๆสามารถเผชิญและยอมรับความจริงว่าพฤติกรรมเป็นผลของการเลือกกระทำของบุคคลนั้นๆเอง และตนเองต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการเปลี่ยนแปลงนั้น
 
ในทฤษฎีนี้อธิบายการเกิดพฤติกรรมไว้ 2 ส่วน คือ พฤติกรรมที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว และ พฤติกรรมการปรับตัวที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง สิ่งต่างๆ และมี 4 องค์ประกอบรวมกันที่ทำให้เกิดพฤติกรรม คือ การกระทำ (acting/doing) ความคิด(thinking) ความรู้สึก(feeling) และกระบวนการทางสรีระของร่างกาย(physiology)