ทฤษฎีบุคลิกภาพ: Sigmund Freud

   


Sigmund Freud นักจิตวิทยาเจ้าของทฤษฎีจิตใต้สำนึก และหลักการบำบัดด้วยการสะกดจิตและ Free Association สมัยที่ Freud เป็นนักศึกษาจิตวิทยาเขาได้ศึกษาพฤติกรรมของคนไข้ทางจิตเวทของเขาแล้วค้นพบว่า มีบางกรณีที่ไม่สามารถจะอธิบายเหตุผลของปัญหาของคนไข้ได้ ดังนั้นเขาจึงเริ่มใช้การวิเคราะห์จิตใต้สำนึกของคนไข้ ร่วมกับการใช้วิธีสะกดจิตเข้ามาช่วย เพื่อให้สามารถเข้าถึงต้นตอของปัญหาที่แท้จริงได้

Freud เชื่อว่าจิตของมนุษย์เรานั้นแบ่งเป็นสามระดับได้แก่ จิตสำนึก จิตกึ่งสำนึก และ จิตใต้สำนึก
Freud กล่าวว่าจิตสำนึกของคนเรานั้นมีอยู่ในระดับที่บุคคลอยู่ในช่วงที่รับรู้ มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน แสดงพฤติกรรมออกมาได้ตรงกับที่ตนเองรับรู้ขณะนั้น สำหรับจิตกึ่งสำนึกคือ เป็นจิตที่แสดงออกมาในระดับที่ยังรู้ตัวอยู่เช่นกัน เพียงแต่ควบคุมไม่ให้แสดงพฤติกรรมออกมา เมื่อใดก็ตามที่ต้องการจะแสดงออกก็สามารถจะเปิดเผย ได้โดยทันที ส่วนจิตใต้สำนึกคือ เป็นจิตระดับที่เก็บสะสมสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย เก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้มากมาย ทั้งสัญชาตญาณของมนุษย์รวมไปถึงปมและความทุกข์ต่าง ๆ ที่เจ้าตัวเก็บกดลงไปในจิตใต้สำนึกเพื่อที่จะลืมเหตุการณ์นั้น ๆ ไปเสีย ในส่วนของจิตใต้สำนึกนั้น Freud กล่าวว่ามันเป็นที่อยู่ของสัญชาติญาณ (instinct) ของมนุษย์ ซึ่งเขาจำแนกสัญชาตญาณของมนุษย์เป็นสองประเภทได้แก่
 
  • สัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีวิต (Life Instinct)
  • สัญชาตญาณแห่งการทำลาย (Death Instinct)

สำหรับสัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีวิตนั้นเป็นสัญชาตญาณที่ว่าด้วยความพึงพอใจส่วนบุคคล รวมไปถึงการสืบพันธุ์ ในส่วนของสัญชาตญาณแห่งการทำลายเป็นสัญชาตญาณที่เชื่อว่าเป้าหมายของทุกชีวิตคือความตาย ดังนั้นสัญชาตญาณแห่งการทำลายนั้นจะรวมไปถึงความก้าวร้าวของคน ความทะเยอทะยาน ความมุ่งมั่นทุก ๆ อย่าง



Freud เชื่อว่าโครงสร้างของบุคลิกภาพของมนุษย์นั้นเกิดจากพลังงานสามระดับได้แก่ Id, Ego และ Superego สามารถอธิบายได้ดังนี้
 
  • Id คือ พลังงานส่วนที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ทั้งความอยาก ความต้องการ กิเลศ ตัณหา รวมไปถึง
  • สัญชาตญาณทั้งหลายที่สิ่งมีชีวิตพึงมี เป็นพลังที่มีเพื่อให้ได้มาซึ่งความพอใจ โดยพลังส่วนนี้จะไม่คำนึงถึงความถูกต้องหรือเหตุผลของความเป็นจริง
  • Ego คือ พลังงานส่วนของความรู้และความเข้าใจ การใช้เหตุผล การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย และ การแสวงหาวิธีการเพื่อตอบสนองความต้องการของอิดโดยที่ไม่ไปขัดกับสิ่งที่ซุปเปอร์อีโก้กำหนดไว้
  • Superego คือ พลังงานส่วนที่เกิดจากการเรียนรู้ถึงกฎระเบียบ กติกา กฎหมาย ศีลธรรม เป็นส่วนที่คอยเตือนบุคคลให้รู้ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด

ในบางกรณีที่อิดกับซุปเปอร์อีโก้เกิดความขัดแย้งกันมากเกินไป อีโก้จะพยายามประนีประนอมสถานการณ์เพื่อลดความขัดแย้งนั้น ๆ ลง ซึ่งการตอบสนองความต้องการของทั้งสองฝ่ายด้วยการใช้วิธีการปรับตัวเรียกว่า กลไกการป้องกันตัวเอง (Defense Mechanism) ซึ่งจะมีผลทำให้บุคคลนั้นรู้สึกผ่อนคลายสภาวะความขัดแย้งของพลังงานทางจิตขณะนั้นลงได้ชั่วขณะหนึ่ง ซึ่งกลไกการป้องกันตัวเองนั้นมีหลายวิธีได้แก่ การเก็บกด การฝันกลางวัน การถดถอย การหลบหนี การต่อต้าน การปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง การชดเชย การแกล้งทำ การซัดทอดผู้อื่น การหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง การเลียนแบบ การติดชะงัก และ การแสดงความเจ็บปวดทางร่างกาย
 
Freud เชื่อว่าลักษณะการพัฒนาการและประสบการณ์ในวัยเด็กและวัยทารก เป็นรากฐานของบุคลิกภาพของบุคคลเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งระยะการวางรากฐานนั้นกินเวลาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ขวบ ซึ่งฟรอยด์เรียกระยะนี้ว่า "ระยะวิกฤต (critical period)" โดยเขาได้กล่าวว่า เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับความต้องการที่จะแสวงหาความสุขให้กับตนเอง โดยผ่านอวัยวะของร่างกายที่ไวต่อความรู้สึกในการตอบสนองความสุข หรือ erogenous zone ซึ่งอวัยวะส่วนนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุ ซึ่งฟรอยด์ได้แบ่งพัฒนาการทางบุคลิกภาพออกเป็น 5 ขั้นตามการเปลี่ยนแปลงได้แก่
 
1. ขั้นแสวงหาความสุขจากอวัยวะปาก (Oral Stage) (0 – 2 ขวบ) ระยะนี้จะเป็นระยะที่ปากเป็นอวัยวะที่ไวต่อความรู้สึกต่อการตอบสนองความสุข เด็กในวัยนี้มีความสุขในชีวิตโดยการใช้ปากทำกินกรรมต่าง ๆ เช่น ดูดนม แทะของเล่น เล่นน้ำลาย หากเด็กถูกขัดขวางการแสวงหาความสุขโดยการใช้ปาก เช่น ถูกบังคับให้หย่านมเร็วเกินไป ต้องร้องไห้อยู่นานกว่าจะได้ดูดนม โดนตีเมื่อแทะของเล่น เด็กจะเกิดการติดชะงักกับระยะปาก (oral fixation) ทำให้เมื่อกลายมาเป็นวัยรุ่นหรือโตเป็นผู้ใหญ่ จึงแสดงบุคลิกภาพชดเชยระยะปากที่ไม่สมบูรณ์ในวัยเด็ก ด้วยการใช้ปากในการแสวงหาความสุขเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น เป็นคนพูดมาก ชอบนินทา สูบบุหรี่ กัดเล็บ รับประทานของจุกจิก ซึ่งบุคลิกภาพเหล่านี้เรียกว่า Oral Personality
 
2. ขั้นแสวงหาความสุขจากทวารหนัก (Anal Stage) (2 – 3 ขวบ) ระยะนี้อวัยวะที่ไวต่อความรู้สึกจะอยู่ที่บริเวณช่องทวาร เด็กวัยนี้จะมีความสุขกับการขับถ่าย ดังนั้นการฝึกหัดให้เด็กเรียนรู้ในการขับถ่ายที่เป็นเวลาควรกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเด็กถูกบังคับหรือลงโทษให้ต้องขับถ่ายให้เป็นเวลาเพื่อไม่ให้เลอะเทอะ หรือ ต้องขับถ่ายในที่ ๆ พ่อแม่กำหนดให้เป็นประจำ เด็กจะเกิดการติดชะงักกับระยะทวาร (anal fixation) ทำให้เมื่อโตขึ้นกลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ชอบสะสมของ ตระหนี่ หวงของ ชอบนั่งที่ใดที่หนึ่งนาน ๆ เจ้าระเบียบ จู้จี้ ไม่ยอมใคร บุคลิกภาพเหล่านี้เรียกว่า Anal Personality
 
3. ขั้นแสวงหาความสุขจากอวัยวะเพศ (Phallic Stage) (3 – 5 ขวบ) ระยะนี้ฟรอยด์ถือว่าเป็นระยะที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาบุคลิกภาพ เด็กจะมีความพึงพอใจกับการได้สัมผัสได้เล่นกับอวัยวะเพศของตนเอง เช่น ชอบจับ ซักถามและให้ความสนใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศ แล้วส่งผลให้ตระหนักรับรู้ถึงลักษณะเพศของตนเอง หากผู้ใหญ่มองเห็นว่าพฤติกรรมเช่นนี้เป็นเรื่องที่ผิดปกติ แล้วลงโทษเด็กด้วยการดุว่า ข่มขู่ จะทำให้เด็กกลัวและเกิดการติดชะงักกับระยะอวัยวะเพศ (phallic fixation) ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลนั้นสับสนในบทบาททางเพศของตนเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ บุคลิกภาพเช่นนี้เรียกว่า Phallic Personality

นอกจากนี้ฟรอยด์ยังได้อธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์เกี่ยวกับเรื่องปม (complex) ซึ่งเป็นผลจากความรู้สึกที่โเด็กผูกพันกับพ่อแม่ที่เป็นเพศตรงข้ามกับตน ได้แก่
 
 
  • ปมออดิปุส (Oedipus Complex) ปมนี้จะเกิดกับเด็กชาย กล่าวคือ เด็กจะมีอาการรักแม่ หวงแม่ อยากครอบครองแม่ไว้เพียงผู้เดียว เริ่มเกิดอาการอิจฉาพ่อที่แม่แสดงความรักและความเอาใจใส่ ดังนั้นเด็กชายระยะนี้จะพยายามเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อ เพราะเชื่อว่าหากเป็นแบบพ่อแล้วแม่จะรักตนมากขึ้น
  • ปมอิเล็กตรา (Electra Complex) ปมนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กผู้หญิง กล่าวคือ เด็กหญิงจะมีอาการรักพ่อ หวงพ่อ และกลัวว่าพ่อจะรักแม่มากกว่าตน เด็กต้องการได้รับความรักความเอาใจใส่จากพ่อ และเห็นแม่เป็นคู่แข่งของตน ดังนั้นเด็กระยะนี้จะพยายามเลียนแบบพฤติกรรมของแม่ เพราะคิดว่าหากตนเป็นเหมือนแม่พ่อจะรักและพอใจตนมากขึ้น


ดังนั้นระยะนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่พ่อแม่จะต้องเป็นแบบฉบับในความเป็นชายจริงหญิงแท้ให้กับลูก ของตนได้เห็น มิฉะนั้นอาจทำให้เด็กมีบุคลิกภาพเบี่ยงเบนทางเพศในตอนโตได้
 
4. ขั้นแสวงหาความสุขจากสิ่งรอบตัว หรือ ระยะสงบ (Latency Stage) (6 – 12 ขวบ) ตั้งแต่ระยะนี้ไปแล้วอิทธิพลที่มีผลต่อบุคลิกภาพจะลดลง ระยะนี้จึงเป็นระยะของการหยุดพักเพื่อแสวงหาบทบาทที่เหมาะสมให้กับตนเอง เด็กจะสามารถสะกดกลั้นความต้องการทางเพศของตนไว้ในจิตใต้สำนึกได้ ซึ่งเด็กจะแสวงหาความพึงพอใจให้กับตนเองด้วยการติดต่อสัมพันธ์กับผู้คนรอบตัวและเพื่อนเพศเดียวกัน ในระยะนี้เด็กจะเริ่มรู้จักการใช้เหตุและผลมากขึ้นด้วย
 
5. ขั้นแสวงหาความสุขจากแรงกระตุ้นทางเพศ (Genital Stage) (12 ปีขึ้นไป) เป็นระยะที่เด็กเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นและเริ่มก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะกายภาพทางเพศพัฒนาถึงขั้นสมบูรณ์ ระยะที่แล้ว ๆ
มาเป็นเวลาที่เด็กหมกมุ่นอยู่กับตัวเองค่อนข้างมาก เมื่อถึงระยะนี้เด็กจะพัฒนาความรัก ความผูกพันกับบุคคลอื่นทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ ทั้งวัยเดียวกันและต่างวัย ในระยะนี้หากเด็กผ่านขั้นที่ 3 มาได้อย่างสมบูรณ์ราบรื่น บุคลิกภาพที่เป็นชายจริงหญิงแท้จะปรากฏออกมาให้เห็นในขั้นนี้ เด็กจะเริ่มมีความต้องการทางเพศและเริ่มสนใจเพศตรงข้าม