ตอนที่ 5 “ภาษาของสมอง”

   


โครงสร้างของภาษาพูด (รวมถึงภาษาเขียน) โดยทั่วไปประกอบไปด้วยตัวอักษรในรูปของพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ หรืออาจจะมีเครื่องหมายพิเศษอื่นๆ ประกอบเข้าไปอีกซึ่งก็แล้วแต่รายละเอียดของภาษานั้นๆ เองว่าจะเป็นอย่างไร หรือในบางภาษาก็อาจจะเป็นไปในลักษณะของอักษรตัวเดียวที่มีความหมายเฉพาะ (เช่นภาษาจีน) ก็ได้
 
การที่เราจะเรียนรู้ภาษาต่างๆ ก็เห็นจะหนีไม่พ้นการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้กันเป็นพื้นฐาน
 
แต่สำหรับภาษาของสมอง (ภาษาของระบบประสาท หรือ Neuro-Linguistic) แล้ว ดูเหมือนว่ามันจะยุ่งยากน้อยกว่านั้นมาก เพราะมันจะประกอบไปด้วยข้อมูลพื้นฐาน 5 เพียงจำพวกด้วยกัน ดังจะประกอบไปด้วย
 
ข้อมูลที่เป็นภาพ
ข้อมูลที่เป็นเสียง
ข้อมูลที่เป็นความรู้สึกสัมผัส
ข้อมูลที่เป็นกลิ่น
ข้อมูลที่เป็นรสชาติ
 
อาศัยเพียงข้อมูล 5 จำพวกนี้แหละมาประกอบเข้าด้วยกันก็จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ ขึ้นมาภายในสมองของเราได้อย่างซับซ้อนน่าอัศจรรย์
 
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น สมมุติมีใครสักคนหนึ่งพูดคำว่า “เยาวราช” ขึ้นมา
 
เมื่อสมองของเราได้ยินคำว่าเยาวราช หน้าที่ที่สำคัญก็คือมันก็จะต้องคิดค้นหาคำตอบให้ได้ว่าเราควรที่จะต้องตอบสนองต่อคำๆ นี้ด้วยวิธีการอย่างไรดีจึงจะเหมาะสมที่สุด
 
เพื่อการนี้การสื่อสารบางอย่างก็จะเกิดขึ้นภายในสมองและระบบประสาทของเรา
 
เมื่อได้ยินคำว่าเยาวราช ภายในสมองของเรามันก็จะเกิดเป็น ภาพ เสียง สัมผัส กลิ่น หรือรสชาติ อะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเยาวราชขึ้นมาในทันที ซึ่งสมองก็จะต้องใช้ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้แหละเป็นตัวค้นหาคำตอบ
 
พอมาถึงตรงนี้แล้วคำถามที่สำคัญที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้นว่า
 
แล้วขณะนที่สมองของเรากำลังสื่อสารกับคำว่าเยาวราชนั้น มันเกิดการสื่อสารด้วยภาพอะไร? เสียงอะไร? สัมผัสแบบไหน? กลิ่นเป็นอย่างไร? รสชาติเป็นอย่างไรบ้าง?
 
เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะรายละเอียดของภาษาสมองเหล่านี้แหละที่จะเป็นคำตอบว่าทำไมสมองของเราจึงตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีการแบบนั้นๆ
 
ถ้ารูปแบบของ ภาพ เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่เกิดขึ้นมันเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ รูปแบบการตอบสนองที่มีความสร้างสรรค์ก็จะถูกสร้างขึ้น แต่ถ้ามันเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม พฤติกรรมที่ไม่สร้างสรรค์บางอย่างก็จะถูกสร้างขึ้นมา
 
ขอย้ำอีกครั้งตรงนี้ว่าสมองของคนเรานั้นทำงานคล้ายกับเครื่องคอมพิวเตอร์ และพฤติกรรมต่างๆ ที่แต่ละคนแสดงออกจากโปรแกรมที่กำลังทำงานอยู่ในสมองของพวกเขา
 
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มต้นกันที่จุดนี้ เหมือนกับการที่โปรแกรมเมอร์แก้ไขการทำงานของโปรแกรมโดยการเข้าไปแก้ที่ source Code ของโปรแกรม