จิตใต้สำนึก ตามแนวทางของ Sigmund Freud

   


ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ได้วิเคราะห์จิตของมนุษย์ออกเป็น 3 ระดับดังนี้

1. จิตสำนึก (Conscious) เป็นจิตระดับที่มนุษย์เราแสดงออกยามเมื่อรู้ตัว มีสติตลอดเวลา รู้ว่าตนเองเป็นใคร ต้องการอะไร กำลังทำอะไร อยู่ที่ไหน รู้สึกอย่างไร เมื่อแสดงพฤติกรรมก็จะแสดงออกไปอย่างรู้ตัว มีเหตุผล อยู่ในโลกของความเป็นจริง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จิตสำนึกคือจิตระดับที่รู้ตัว และแสดงพฤติกรรมออกมาได้โดยตรงตามที่ตนเองรับรู้ขณะนั้น

2. จิตกึ่งสำนึก (Pre-Conscious) เป็นจิตที่แสดงออกมาในระดับที่ยังรู้ตัวอยู่เช่นกัน เพียงแต่ควบคุมไม่ให้แสดงพฤติกรรมออกมา เมื่อใดก็ตามที่ต้องการจะแสดงออกก็สามารถจะเปิดเผยได้โดยทันที เช่น แมรี่เกลียดน้องสาวตัวเอง แต่ไม่ต้องการให้พ่อกับแม่รู้จึงควบคุมพฤติกรรมให้เป็นปกติ ซึ่งแมรี่รับรู้จิตส่วนนี้อยู่ตลอดเวลาว่าตนมีความรู้สึกอย่างไรกับน้องสาวตน ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่แมรี่ต้องการจะเปิดเผยความเกลียดที่มีอยู่ในใจของตนออกมาก็ย่อมทำได้ทันที สรุปได้ว่าจิตกึ่งสำนึกคือ จิตระดับที่รู้ตัวแต่ไม่แสดงออกมา

3. จิตใต้สำนึก (Sub-Conscious) ฟรอยด์เชื่อว่าจิตระดับนี้เป็นระดับที่เก็บสะสมสิ่งต่าง ๆ ไว้มากมาย เก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้มากมาย ทั้งสัญชาตญาณของมนุษย์ เช่น ความต้องการทางเพศ ความก้าวร้าว ความกลัว ความเห็นแก่ตัว ทั้งประสบการณ์ต่าง ๆ ที่บุคคลได้รับมาตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม รวมถึงประสบการณ์ที่เป็นเรื่องที่เจ็บปวด ขมขื่น เศร้า หรือทุกข์ในอดีตที่บุคคลต้องการจะลืมไปจากความทรงจำ เช่น เกลียดพี่น้อง อกหัก โดนเพื่อนแกล้ง เป็นต้น ฟรอยด์เชื่อว่าความรู้สึกเป็นทุกข์เหล่านี้จะเกิดเป็นกระบวนการเก็บกดลงสู่จิตใต้สำนึก (Repression) ทำให้บุคคลไม่สามารถรับรู้หรือจำความรู้สึกความรู้สึกดังกล่าวได้ ซึ่งในความเป็นจริงประสบการณ์และความรู้สึกดังกล่าวนั้นยังคงมีตัวตนอยู่ในจิตใต้สำนึก ไม่ได้หายไปไหน ซึ่งจะถูกแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมติดตัวเมื่อโตขึ้น ซึ่งเจ้าตัวไม่สามารถที่จะอธิบายเหตุผลได้ ฟรอยด์เชื่อว่าตัวตนของบุคคล ๆ หนึ่งซึ่งจะพึงมีและพึงเป็นได้นั้นขึ้นอยู่กับจิตใต้สำนึก เนื่องจากจิตใต้สำนึกเป็นคลังข้อมูลนับล้าน ๆ ดังนั้นมันจึงเป็นตัวกำหนดว่าบุคคลคนนั้นจะเป็นคนเช่นไร เช่น ก้าวร้าว อ่อนโยน เข้มแข็ง อ่อนแอ กลัวหนู กลัวความสูง ชอบดอกไม้ เกลียดแมว ฯลฯ

ในขณะที่จิตสำนึกและจิตกึ่งสำนึกเป็นจิตที่ถูกแสดงออกมาเมื่อบุคคลรู้ตัว จิตใต้สำนึกก็เป็นจิตที่ถูกแสดงออกมาเมื่อบุคคลนั้น ๆ ไม่รู้ตัว หรือไม่มีสติรับรู้ได้ เช่น นอนหลับ นั่งสมาธิ หรือ ถูกสะกดจิต ในขณะที่การแสดงออกของจิตสำนึกและจิตกึ่งสำนึกเป็นการแสดงออกเมื่อยามเราตื่น เช่น เดิน กิน เข้าประชุม หรือ คุยโทรศัพท์ การแสดงออกของจิตใต้สำนึกจะฉายภาพออกมาในรูปแบบของความฝัน การละเมอ หรือ เผลอพูดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น

ฟรอยด์เปรียบเทียบจิตใจของมนุษย์ว่ามีลักษณะคล้ายกับภูเขาน้ำแข็ง (iceberg) ที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร ซึ่งภูเขาน้ำแข็งนั้นจะมีส่วนที่ลอยโผล่พ้นผิวน้ำอยู่เพียงน้อยนิด แต่ส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำนั้นมีอยู่อีกมาก ณ ทีนี้ส่วนที่ลอยพ้นผิวน้ำมานั้นเปรียบเทียบได้กับจิตสำนึก และส่วนที่อยู่ปริ่มน้ำหรือลงไปใต้น้ำเพียงไม่มากสามารถเปรียบได้กับจิตกึ่งสำนึก และน้ำแข็งส่วนสุดท้ายที่เป็นส่วนใหญ่ของภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ลึกลงไปใต้พื้นมหาสมุทรนั้นก็คือจิตใต้สำนึก เนื่องจากส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทรไปนั้นคือส่วนที่เราไม่มีโอกาสได้เห็นหรือรับรู้ได้ถึงความมีตัวตนอยู่ของมัน

สาเหตุที่ฟรอยด์เปรียบให้จิตสำนึกและจิตกึ่งสำนึกเป็นเพียงส่วนน้อยนิดของภูเขาน้ำแข็งนั้นก็เพราะว่า โดยปกติแล้วมนุษย์เรานั้นจะใช้จิตส่วนที่เป็นจิตสำนึกและจิตกึ่งสำนึกทำงานเพียงแค่ 8% เท่านั้น ส่วนอีก 92% ที่เหลือนั้นก็คือผลจากการทำงานของจิตใต้สำนึกทั้งหมด พลังของจิตใต้สำนึกมีอิทธิพลเหนือจิตสำนึกกระตุ้นเตือนให้กระทำพฤติกรรมประจำวันทั่ว ๆ ไป เป็นแรงจูงใจให้เกิดพฤติกรรมอันไร้เหตุผลและผิดปกติในลักษณะต่าง ๆ

อย่างไรก็ตามจิตใต้สำนึกที่ไม่มีโอกาสได้แสดงพฤติกรรมออกมานั้น มักจะกลายเป็นพฤติกรรมผิดปกติแบบใดแบบหนึ่งได้ เช่น รู้สึกกลัวและกังวลตลอดเวลา ซึมเศร้าตลอดเวลา ซึ่งการช่วยเหลือบุคคลที่มีพฤติกรรมผิดปกติเยี่ยงนี้ จำเป็นจะต้องเข้าใจการหยั่งรู้ถึงสาเหตุหลักที่ถูกฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก โดยจิตแพทย์ที่ดำเนินรอยตามฟรอยด์อาจจะใช้วิธีการสะกดจิต หรือ บำบัดแบบ Free Association เพื่อให้คนไข้สามารถเปิดเผยเรื่องราวที่ถูกบันทึกอยู่ในจิตใต้สำนึกของตนออกมา