จิตอ่อนจิตแข็ง

   


สมัยที่ยังสอนเทคนิคสะกดจิตบำบัดอยู่ คำถามหนึ่ง ซึ่งมักจะถูกถามขึ้นเป็นประจำในห้องเรียนก็คือเรื่องของ “จิตอ่อน” และ “จิตแข็ง”

.

เพราะคนโดยทั่วไปมักเข้าใจว่าคนจิตอ่อนถูกสะกดจิตง่าย ส่วนคนจิตแข็งนั้นถูกสะกดจิตยากกว่า

.

ความจริงแล้วเรื่องของจิตอ่อนจิตแข็งอะไรนี่ คงต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่านี้เป็นเรื่องโคตร “ไร้สาระ”

.

ในทางเทคนิคของการสะกดจิตบำบัดแล้ว ไม่มีหรอกคำว่าจิตอ่อนหรือจิตแข็ง ความจริงถ้าเราตั้งคำถามว่าจิตอ่อนคืออะไรหรือจิตแข็งคืออะไร เราก็แทบไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนด้วยซ้ำไปว่าสอง อย่างนี้คืออะไรกันแน่

.

สำหรับการสะกดจิตบำบัดแล้วไม่มีคำว่าจิตอ่อนจิตแข็ง 

.

มีแต่คำว่า “ดื้อมาก” กับ “ดื้อน้อย” เพียงแค่นั้น

.

ยิ่งมีความดื้อรั้นหรือไม่ยอมฟังกันมากเท่าไหร่ กระบวนการสะกดจิตบำบัดก็ยิ่งดำเนินไปด้วยความยากลำบาก มีเพียงแค่นั้นจริงๆ 

.

ผมย้ำอยู่ตลอดว่าโดยเนื้อแท้แล้วการสะกดจิตคือการให้คำแนะนำ ส่วนการถูกสะกดจิตแท้จริงแล้วคือการยอมรับฟังต่อคำแนะนำเหล่านั้น 

.

ในขณะที่ความดื้อรั้นนั่นหมายถึงการไม่ยอมฟังใครเอาเสียเลย มันเต็มไปด้วยข้ออ้างหรือข้อยกเว้นมากมายที่จะไม่ยอมรับสิ่งต่างๆ เมื่อไม่ยอมฟังเสียแล้ว กระบวนการสะกดจิตบำบัดจะให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมามันคงเป็นไปไม่ได้

.

การสะกดจิตบำบัดและความดื้อรั้นของคนนั้นจึงเหมือนเป็นศัตรูที่อยู่กันคนละขั้วมาโดยตลอดไม่มีทางไปด้วยกันได้เลย

.

พูดกันตรงๆแล้วความอยากได้ผลลัพธ์นั้นใครก็ย่อมมี แต่เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์นั้นจะยอมปรับเปลี่ยนแก้ไขอะไรบางอย่างกันหรือเปล่า? 

.

บางคนอาจบอกว่าฉันอยากรวยมาก อยากมีรถปอร์เช่ขับเล่นสักคัน แน่นอนเขาย่อมมีสิทธิที่จะได้รับสิ่งที่เขาคาดหวัง แต่เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้เขายินดีที่จะปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างในตัวเองบ้าหรือเปล่า? 

.

ผลลัพธ์ใหม่ๆ กับความเปลี่ยนแปลง การใจรับสิ่งใหม่ๆ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกันเสมอ เพราะถ้าคุณคิดอย่างเดิม พูดอย่างเดิม ทำอย่างเดิม ไม่ยอมรับสิ่งใหม่ๆ ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นเรื่องเดิมๆไม่มีวันเปลี่ยนแปลงไปได้เลย

.

ทำไมกระบวนการสะกดจิตบำบัดจึงล้มเหลว?

.

ทำไมผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้จึงไม่เกิดขึ้น? โดยมากแล้วคำตอบก็ไม่พ้นเรื่องของความดื้อรั้นไม่ยอมรับฟังหรือไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอะไรเลยในชีวิต

.

เพียงแค่ยอมรับต่อสิ่งใหม่ยังทำไม่ได้ นับประสาอะไรกับพฤติกรรมหรือผลลัพธ์ใหม่ๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้น? 

.

สำหรับคนดื้อรั้นน้ำเต็มแก้วเหล่านี้ถ้าให้นิยามว่าพวกเขา(หรือเธอ)คือคนที่ “จิตแข็ง” มันก็คงดูหรูหราเกินจริงไปสักหน่อยหรือเปล่า มันเหมือนเป็นคำยกย่อง ซึ่งพวกเขาไม่สมควรที่จะได้รับ

.

ความจริงก็แค่คนหัวดื้อคนหนึ่งเท่านั้นแหละ ไม่น่าจะมีอะไรที่พิเศษมากไปกว่านั้น 

.

ถามว่าทำไมการสะกดจิตบำบัดจึงไม่ได้ผล? พวกเขามีจิตแข็งเกินไปอย่างนั้นหรือ?

.

เปล่าเลย ก็แค่คนหัวดื้อที่ไม่ยอมฟังคำแนะนำอะไรเลยก็เพียงเท่านั้น

เรื่องของจิตอ่อนหรือจิตแข็งสำหรับการสะกดจิตบำบัดก็เป็นดังนี้