ความทรงจำกับ NLP ตอนที่ 2

   


เมื่อวานได้เขียนถึงเรื่องการแก้ไขข้อมูล(ความทรงจำหรือก็คือประสบการณ์)ต่างๆที่ถูกบันทึกอยู่ภายในสมองเพื่อแก้ปัญหาชีวิตบางอย่าง
.
ก็เขียนเสียดิบดีแล้วก็ตัดจบเสียอย่างนั้น
.
วันนี้ก็เลยว่าจะมาเขียนต่อให้มันจบๆ
.
เทคนิคการเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เป็นประสบการณ์หรือความทรงจำนั้น NLP เรียกว่าการทำ “รีเฟรมมิ่ง”(Reframing)
.
คำนี้แปลเป็นไทยง่ายๆว่า “การเปลี่ยนกรอบ” สังเกตว่าเขาใช้คำว่าเปลี่ยนกรอบ(รีเฟรม)ไม่ใช่การเปลี่ยนรูป
.
โดยทั่วไปแล้วสำหรับภาพๆนึงนั้น คุณค่าของมันจริงๆก็ควรที่จะเป็นเนื้อหาของตัวภาพเอง แต่ทางปฏิบัติจริงกลับพบว่าคุณค่าของภาพนั้นมันบางทีมันก็จะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบภายนอกด้วย เช่นกรอบหรือสถานที่ตั้งของภาพนั้นๆ
.
เช่นถ้าเราเอาภาพ ดอกทานตะวัน ของแวนโก๊ะห์ซึ่งทุกคนรู้กันดีว่ามีมูลค่ามหาศาล ไปใส่กรอบไม้อย่างถูกๆแล้วเอาไปตั้งขายที่ตลาดนัดเล็กๆซักที่
.
รับประกันเลยว่ามูลค่าจะเหลือแค่ไม่กี่ร้อย คงน้อยคนมากที่จะมองออกแล้วรู้ว่านี่คือภาพของแท้ที่ประเมิญค่าไม่ได้
.
ในทางตรงกันข้าม ถ้าเรารูปดอกทานตะวันของแวนโก๊ะห์เหมือนกันแต่เป็นของปลอม เอาไปใส่กรอบราคาแพงๆ แล้วเอาไปตั้งในพิพิธภัณฑ์หรูๆ ซักที่ ติดป้ายเอาไว้อย่างดีว่านี่นิทรรศการรูปเขียนของแวนโก๊ะห์
.
ก็คงจะมีน้อยคนมากที่จะมองออกว่านี่มันคือรูปปลอม
.
ดูเหมือนว่าองค์ประกอบแวดล้อมจะมีอิทธิพลไม่แพ้เนื้อหาสาระจริงๆ เสียอีก
.
สำหรับข้อมูลต่างๆ(ในสมองของเรา)ก็ทำนองเดียวกัน
.
NLP ไม่ได้จะให้เราแก้ไขมันเสียทั้งหมด หากแต่แนะนำให้แก้องค์ประกอบบางอย่างเพียงซักเล็กน้อยเพื่อทำให้ผลลัพธ์ที่ได้แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน
.
ภาษาชาวบ้านคือการ “พลิกเหลี่ยม”
.
หามุมให้เจอแล้วพลิกเหลี่ยมเปลี่ยนจากร้ายให้เป็นดี
.
โดยเทคนิครีเฟรมมิ่งของ NLP จะถูกแบ่งออกเป็นสองอย่าง
.
อย่างแรกเรียกว่า “คอนเท๊กซ์รีเฟรมมิ่ง” (Context Reframing)
.
เป็นการรักษารายละเอียดของข้อมูลเดิมเอาไว้ทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนบริบทของมันเสียใหม่เท่านั้น คล้ายกับการเปลี่ยนชื่อเรื่องให้กับภาพยนตร์หรือหนังสือ
.
หลักการคือพอชื่อเรื่องเปลี่ยนอารมณ์ก็เปลี่ยน เช่นเรื่อง "ไททานิค" ที่แสนโรแมนติกลองเปลี่ยนเป็น "ชู้รักเรือล้ม" ก็หมดกัน เหลือแค่ห้าบาทสิบบาททั้งๆ ที่เนื้อหายังเหมือนเดิมทุกประการ
.
ความทรงจำของก็ทำนองเดียวกัน มองหามุมคิดในแง่ดีให้กับเรื่องแย่ๆที่เกิดขึ้น แล้วเปลี่ยนชื่อเรียกให้กับมัน ก็คือการทำคอนเท๊กซ์รีเฟรมมิ่ง
.
เช่นภาพความทรงจำตอนเป็นที่เด็กยากจนมากถูกเพื่อนบ้านหรือใครต่อใครดูถูกจนกลายเป็นคนดูถูกตัวเอง ก็เปลี่ยนไปเรียกมันว่า “ประสบการณ์ชีวิตเข้มข้นที่คนธรรมดาไม่มี” ลองจั่วหัวแบบนี้แล้วก็ฟังดูดีมีกำลังใจขึ้นมาอีกมากโขเลยทีเดียว
.
ส่วนเทคนิคอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “คอนเทนท์รีเฟรมมิ่ง” (Content Reframing)
.
อันนี้ใช้สำหรับเรื่องร้ายๆ ที่จนปัญญาจะหามุมดีๆ มาชดเชยได้ก็เลยจำเป็นต้องเปลี่ยนรายละเอียดบางอย่างของเรื่องมันซะเลย เหมือนกับการเปลี่ยนบางฉากในภาพยนต์ที่เราดู
.
เช่นเรื่องไททานิคพระเอกตายตอนจบเราก็แก้ให้พระเอกรอด แล้วจบแบบแอปปี้เอ็นดิ้งไปเลย ใครจะว่ายังก็ช่างแต่เราจะเอาแบบนี้แหละ
.
ก็ดูแล้วมันสบายใจดีใครจะทำไมฉันล่ะ!!!
.
สำหรับประสบการณ์บางอย่างที่ยากจะหามุมดีมาชดเชยได้ (เช่นการถูกทุบตีหรือทำทารุณกรรมต่างๆ) NLP เสมอให้ใช้ท่าไม้ตายที่เรียกว่า คอนเทนท์รีเฟรมมิ่ง
.
คือเปลี่ยนเรื่องมันเสียเลย(ใครจะทำไมล่ะ) ที่เคยเจ็บแก้ว่าไม่เจ็บ ที่เคยโดนทำร้ายก็แก้ไขว่าไม่เป็นไรหรือรอดตัวกันไปได้อะไรทำนองแบบนั้น
.
โดยทั่วไปแล้วถือว่าการทำ คอนเท็กซ์รีเฟรมมิ่ง เป็นวิธีการที่ดีกว่า คอนเทนท์รีเฟรมมิ่ง เพราะไม่ต้องเข้าไปยุ่งอะไรเลยกับรายละเอียด เพียงแต่หาแง่มุมใหม่ๆในการเปลี่ยนทิศทางให้ได้เท่านั้น
.
แต่ถ้ามันจำเป็นจริงๆ คอนเทนท์รีเฟรมมิ่ง (คือการแก้ไขเรื่องราว) ก็จำเป็นต้องทำเพื่อให้ปัญหาบางอย่างมันถูกแก้ไขหรือขจัดให้หมดไป
.
เฉพาะ คอนเทนท์รีเฟรมมิ่ง นี้ว่ากันตามตรงแล้วถูกวิจารณ์และถูกต่อต้านกันพอสมควร เพราะดูเหมือนจะเป็นการหลอกตัวเอง(ซึ่งก็ใช่)
.
แต่ก็นั่นแหละ อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า NLP มองว่า “มันก็แค่ข้อมูลในหัวของเราไม่ใช่เหรอ?” ซึ่งเราย่อมมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะจัดการอะไรซักอย่างกับมันเพื่อให้ชีวิตของเรามันดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
.
หรือจะให้ความจริงที่แสนเจ็บปวดนั้นโบยตีเราต่อไป?
.
มันก็เหมือนความเจ็บปวดทั่วไปนั่นแหละ ปล่อยให้หายปวดเองก็ได้ แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆก็จำเป็นต้องหายาแก้ปวดมาทานบ้าง
.
อย่าลืมว่าความเจ็บปวดนั้นฆ่าคนได้จริงๆ
.
ไม่ว่าจะปวดกายหรือปวดใจก็ตาม
.
และในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าเราจะเลือกใช้การทำ คอนเท็กซ์รีเฟรมมิ่ง หรือ คอนเทนท์รีเฟรมมิ่ง ก็ตาม เครื่องมือสำคัญที่เราจะใช้ในการบรรจุข้อมูลใหม่เหล่านั้นเข้าไปทดแทนของเดิมก็คือเทคนิคการสะกดจิตบำบัด (Hypnotherapy)
.
ไม่ว่าจะด้วยการสะกดติตตัวเอง หรือการสะกดจิตโดยนักสะกดจิตผู้เชี่ยวชาญก็ตาม
.
บรรจุข้อมูลใหม่เหล่านั้นเข้าไปในจิตใต้สำนึกเพื่อทำงานแทนของเดิม
.
หลักการของมันก็มีเพียงเท่านี้