การเก็บข้อมูลในการสะกดจิตบำบัด

   


การสะกดจิตบําบัด (Hypnotherapy)  โดยเนื้อแท้แล้วคือกระบวนการ “ให้คำแนะนำ” เพียงแต่คำแนะนำนี้เรามุ่งหวังที่จะส่งตรงไปเก็บเอาไว้ยังส่วนที่เรียกว่าจิตใต้สำนึกมากกว่าการเข้าใจในระดับของจิตรู้สำนึก

เมื่อผู้รับการบำบัดยอมรับต่อคำแนะนำเหล่านั้น ผลลัพธ์ความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในเชิงพฤติกรรมจึงเกิดขึ้นตามมา เนื้อหาสาระของเทคนิคการสะกดจิตบําบัด แท้จริงแล้วคือการวางเงื่อนไขไปสู่การยอมรับต่อคำแนะนำนั่นเอง

การยอมรับจึงเป็นหัวใจที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งของกระบวนการสะกดจิตบําบัด (รวมไปถึงเทคนิคการสะกดจิตแขนงอื่นอื่นๆด้วย)

“การยอมรับเข้ามาก่อน แล้วจึงนำสิ่งที่รับเข้ามานั้นไปใช้ทีหลัง” นี่คือหลักการสำคัญที่ผมมักใช้ในการอธิบายถึงหลักการทำงานของการสะกดจิตบำบัด

จะขอยกตัวอย่างอย่างนี้ว่า

สมมุติว่าผมกำลังมีปัญหาอย่างหนึ่งอยู่ภายในใจทำให้ได้รับกับความทุกข์เป็นอย่างยิ่ง ในกรณีนี้อาจจะมีใครสักคนหนึ่งให้คำแนะนำกับผมว่า “ผมจะต้องให้อภัยต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น”

มาถึงตรงนี้แล้วพูดกันตามตรงว่าผมไม่รู้หรอกว่าเมื่อถึงเวลาจริงๆ ผมจะสามารถให้อภัยต่อเหตุการณ์นั้นได้หรือเปล่า แต่อย่างน้อยที่สุดคำแนะนำซึ่งผมได้รับมานั้น ผมยินดี ผมเต็มใจ ผมรู้สึกไว้วางใจ และน้อมรับฟังต่อคำแนะนำนั้นด้วยความรู้สึกเชื่อมั่นว่ามันจะเป็นหนทางในการแก้ไขความทุกข์ให้กับผมได้

นี่คือหลักการสำคัญที่เรียกว่า “การรับเข้ามาก่อน” คือต้องยอมรับเอาคำแนะนำนั้นเข้ามาเก็บเอาไว้เป็นวัตถุดิบภายในคลังข้อมูลของจิตใต้สำนึกเสียก่อน เหมือนไปซื้อเสบียงมาตุนเอาไว้อยู่ในตู้เย็น เมื่อถึงเวลาหิว(ซึ่งก็คือทุกข์) ก็เพียงแต่เปิดตู้เย็นออกมา เราก็จะพบกับเสบียงมากมายที่จะใช้จัดการกับความหิวที่เกิดขึ้น

ในทางเทคนิคปฏิบัติของกระบวนการสะกดจิตบําบัด นักสะกดจิตจะเริ่มต้นงานของเขาโดยทำให้ผู้เข้ารับการบำบัดเข้าสู่สภาวะของการเข้าภวังค์เสียก่อน โดยอาศัยคำพูดโน้มน้าวให้ผู้เข้ารับการบำบัดเกิดความรู้สึกผ่อนคลาย (เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก นับตัวเลขถอยหลัง หรือจินตนาการถึงเหตุการณ์ต่างๆ) จากนั้นจึงจะเริ่มให้คำแนะนำในส่วนที่เป็นการแก้ปัญหา

ในสภาวะของห้วงภวังค์นี้ การทำงานของสมองโดยรวมจะลดระดับลง ทำให้กลไกที่สมองใช้ในการไตร่ตรอง วิเคราะห์ รวมไปถึงการปฏิเสธต่อข้อมูลที่กำลังรับรู้จึงลดระดับการทำงานลงไปด้วย

ตรงนี้ขออธิบายขยายความว่า ไม่ว่าสมองของเรารับรู้สิ่งใดก็ตาม มันจะต้องมีการกรองข้อมูลเสียก่อน ว่าข้อมูลเหล่านั้นคืออะไร จริงเท็จขนาดไหน เราสมควรที่จะเห็นด้วยหรือยอมรับต่อข้อมูลเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งหน้าที่ในส่วนนี้จะเป็นของจิตรู้สำนึก (ซึ่งก็คือความเป็นตัวตนในเชิงตรรกะ เหตุผล และความฉลาดของแต่ละคนนั่นเอง) แต่ในสภาวะของห้วงภวังค์มันคล้ายกับว่าไส้กรองเหล่านี้มันกำลังถูกปิดระบบลงชั่วขณะหรืออย่างน้อยก็ทำให้อ่อนกำลังลงมาก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ากลไกการกรองข้อมูลจะอ่อนกำลังลง แต่ในสภาวะนี้สมองก็ยังคงที่จะต้องรับรู้ข้อมูลต่างๆ ต่อไปอยู่ดี เพราะระบบประสาทการรับรู้ยังไม่หยุดทำงานโดยสมบูรณ์ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็คือ สมองจะเก็บข้อมูลที่ไม่ได้ผ่านการกรองพวกนั้น (ซึ่งก็คือคำแนะนำของนักสะกดจิต) เอาไปเก็บไว้ในส่วนที่เรียกว่าจิตใต้สำนึกซึ่งเปรียบเสมือนโกดังเก็บวัตถุดิบของสมอง

“การเก็บเข้ามาก่อน แล้วจึงนำสิ่งที่เก็บเข้ามานี้ไปใช้ในภายหลังเมื่อถึงโอกาสเหมาะสม”

นั่นคือหลักการที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งของเทคนิคสะกดจิตบำบัด