การสำนึกผิด

   


“การสำนึกผิด” เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งภายในจิตใจของเรา มันเป็นการสื่อสารที่แสดงออกมาจากจิตใต้สำนึกเพื่อบอกแก่จิตรู้สึก(ตัวเรา)ว่าฉันจะไม่ทำผิดซ้ำอย่างนั้นอีกเด็ดขาด หรืออย่างน้อยก็กำลังบอกว่าฉันก็เป็นคนดีกว่านี้อย่างแน่นอน
 
ความรู้สึกสำนึกผิดจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน
 
ลองนึกถึงว่าถ้าไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดในใจของผู้คนเลยอะไรมันจะเกิดขึ้น?
 
แย่แน่ๆ สังคมคงวุ่นวาย เพราะผู้คนจะไม่สำนึกและเรียนรู้ในความผิดพลาดของตนเองเลย
 
ความจริงทุกวันนี้ก็มีบางคนที่เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว แม้ไม่มากแต่ก็ทำให้สังคมวุ่นวายได้ไม่น้อย ถ้าจะไม่มีความรู้สึกสำนึกผิดกันทุกคนเลยคงอยู่ยากแน่ๆ ดินแดนมิคสัญญีของแท้กันเลยทีนี้
 
แต่อย่างไรก็ตาม ใดๆในโลกมันก็มักเป็นดาบสองคมอยู่ด้วยกันทั้งนั้น น้อยไปก็ไม่ได้มากไปก็ไม่ดี สำหรับความรู้สึกสำนึกผิดก็เช่นกัน
 
เพราะปรากฏว่าบางคนก็ปล่อยให้ความรู้สึกสำนึกผิดของตนเองเป็นเหมือนกับภูติผีคอยหลอกหลอนตามรังควานแบบไม่หยุดหย่อน แม้ว่าเรื่องนั้นมันผ่านไปนานแสนนานเพียงใดแล้วก็ตาม
 
“ฉันไม่น่า.............เลย”
 
ความคิดทำนองอย่างนี้มักเวียนวนอยู่ในหัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า และท้ายที่สุดหากไม่สามารถหยุดยั้งมันได้ มันก็มักจะนำไปสู่กระบวนการลงโทษตนเอง
 
คือทำอะไรบางสิ่งบางอย่างเพื่อลงโทษตนเองให้สาสมแก่ความผิดไม่ว่าจะทางตรง(ทำร้ายร่างกาย)หรือทางอ้อม(พฤติกรรมไม่สร้างสรรค์บางอย่าง)
 
ข่าวร้ายก็คือกระบวนการที่ว่านี้ถ้าเราเปรียบเสมือนศาลเตี้ยแล้วล่ะก็ มันจะเป็นศาลเตี้ยที่ไม่มีวันจบ ลงโทษแล้วก็ลงโทษอีกซ้ำไปซ้ำมาไม่มีวันจบสิ้น
 
ก็อย่างแปลใจถ้าบางคนจะเปรียบว่ามันเหมือนกับ “นรก”
 
สำหรับการล้างเอานรกเหล่านี้ออกไปให้พ้นจากภายในจิตใจนั้น ย่อมสามารถทำได้อย่างแน่นอน
 
เพื่อการนี้คุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสิ่งที่เรียกว่า “การปล่อยวาง” และ “การให้อภัยตนเอง” โดยเฉพาะอย่างหลังนี้สำคัญมากเพราะมันจะช่วยทำให้ความทุกข์มันหายไปได้ชนิดที่จะไม่มีวันกลับมากอีก
 
ทั้ง “การปล่อยวาง” และ “การให้อภัยตนเอง” นี้ ความจริงหลายคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แบบ “ใครๆ ก็รู้” แต่ในทางปฏิบัติจริงนั้นกลับเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก (ถ้ามันง่ายจริงก็คงไม่มีใครที่มีปัญหา)
 
แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะเพื่อทำให้สองสิ่งนี้เกิดขึ้น?
 
ในทางเทคนิคแล้ว ประการแรกสุดก็คือการรู้จักที่จะบอกตัวเองว่า “หยุด” ทันทีที่เกิดความคิดตำหนิตัวเองขึ้นมา
 
โดยฝึกที่จะบอกกับตัวเองว่า “หยุดเถอะ” “หยุดคิดเดี๋ยวนี้” หรือ “พอกันที”
 
อาจจะจินตนาการว่าเอามือไปกดปิดสวิตช์ลำโพงความคิดให้เสียงความคิดมันเงียบลง
 
หรือไม่ก็จินตนาการว่าขยำภาพความคิดแย่ๆในใจพวกนั้นเหมือนขยำเศษกระดาษแล้วปาทิ้งลงไปในถังขยะอย่างไม่ใยดีก็ได้
 
เทคนิคพวกนี้พวกนี้นัก NLP มักแนะนำให้คนที่ความคิดโทษตัวเองแบบควบคุมไม่ได้เอาไปใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเวลาที่เริ่มรู้สึกควบคุมความคิดของตัวเองไม่ได้ และจากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่ามันเทคคิคง่ายๆที่ได้ผลดีเป็นอย่างน่าอัศจรรย์
 
(ถ้าคุณมีปัญหาอะไรทำนองที่ว่ามานี้ ผมอยากให้คุณลองทำดูจริงๆนะ สำหรับหลายๆ คนมันอาจจะไม่ได้ผลในครั้งแรกก็จริง แต่คุณก็แค่ต้องฝึกมันซักพักเพื่อให้สมองเกิดความเคยชิน แต่รับลองได้ว่าถ้าไปถึงจุดที่สมองเริ่มคุ้นเคยเมื่อไหร่แล้วล่ะก็ มันคุ้มค่าแน่นอน)
 
หากผ่านขั้นตอนแรกนี้ไปได้ สิ่งที่ควรที่จะต้องทำต่อไปก็คือการหมั่นบอกกับตังเอง (Self-Talk) ว่า “ฉันรักตัวเอง ฉันให้อภัยต่อความผิดพลาดของตัวเองตัวเอง และฉันสัญญาว่าจะไม่ผิดพลาดซ้ำอีก”
 
เฉพาะประโยคสุดท้ายที่ว่าจะไม่ผิดพลาดซ้ำอีกนี่สำคัญมาก เพราะได้บอกไปตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่าความรู้สึกสำนึกผิดเป็นเรื่องสำคัญ แม้จะก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาบ้าง แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราจะเอาความรู้สึกสำนึกผิดออกไปให้พ้นจากจิตใจจนหมดสิ้น
 
เรายังคงต้องสำนึกผิดต่อความผิดพลาดที่เคยทำลงไป
 
เพียงแต่ในขณะเดียวกันเราก็ยินดีที่จะให้อภัยตนเองด้วย เพื่อให้ชีวิตของเราได้เดินมุ่งหน้าต่อไปอย่างมีความสุขต่อไป
 
และเพื่อให้มีพลังในการดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ที่ว่ามานี้ หัวใจที่สำคัญที่สุดคือ “เราต้องรักตัวเอง”
 
ข้อนี้สำคัญที่สุดจริงๆเพราะไม่มีใครมาช่วยทำแทนได้