การสะกดจิตบำบัดในทัศนคติของผู้เชี่ยวชาญ

   


"มองเข้าไปในตาของฉัน" ...  วลีนี้ชวนให้นึกถึงภาพของนักจิตบำบัดที่แกว่งนาฬิกาพกไปมา หรือบางทีคุณอาจจะนึกภาพ แคทเธอรีน คีเนอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง Get Out ที่กำลังแตะถ้วยน้ำชาของเธอ แล้วส่งชายที่ไม่เต็มใจเข้าสู่สภาพวะถูกสะกดจิต

.

"มีตำนานหรือคำบอกเล่ามากมายเกี่ยวกับการสะกดจิต ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการนำเสนอของสื่อต่างๆ เช่นภาพยนตร์และนวนิยายที่แต่งขึ้น" นั่นคือคำเกริ่นนำของ เออร์วิง เคิร์ช (Irving Kirsch) วิทยากรและผู้อำนวยการโครงการศึกษายาหลอกวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของ "ยาหลอก" (Placebo) แห่งโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด

.

เคิร์ชกล่าวว่า การสะกดจิตบำบัด (Hypnotherapy) เป็นรูปแบบการบำบัดเสริมที่มีการศึกษาวิจัยมาอย่างดี และถูกต้องตามกฎหมาย สำหรับปัญหาต่างๆ ตั้งแต่โรคอ้วน ความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดไป จนถึงความวิตกกังวล และความเครียด

.

ในแง่ของการลดน้ำหนัก งานวิจัยของเคิร์ชพบว่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ได้รับการบำบัด cognitive behavioral therapy (CBT) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการบำบัดแบบไม่ใช้ยาที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดสำหรับการลดน้ำหนัก ภาวะซึมเศร้าและภาวะอื่น ๆ อีกมากมาย 

.

พบว่าผู้ที่ได้รับการบำบัดแบบ CBT ควบคู่ไปกับการสะกดจิตบำบัดมีแนวโน้มที่จะลดน้ำหนักได้มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

.

หลังจาก 4-6 เดือนผู้ที่ได้รับการบำบัดแบบ CBT + สะกดจิตบำบัด สามารถลดน้ำหนักลงมากกว่า 20 ปอนด์ ในขณะที่ผู้ทำ CBT อย่างเดียวสามารถลดลงไปประมาณครึ่งหนึ่ง กลุ่มที่ได้รับการสะกดจิตบำบัดยังยืนยันว่าการลดน้ำหนักเป็นไปได้ด้วยในช่วงติดตามผล 18 เดือน ในขณะที่กลุ่ม CBT อย่างเดียวเท่านั้นมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักกลับคืนมาบ้าง

.

นอกเหนือจากการช่วยลดน้ำหนักแล้วยังมี “หลักฐานการวิจัยที่สำคัญ” ว่าการสะกดจิตบำบัดสามารถลดความเจ็บปวดทางร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เลน มิลลิ่ง (Len Milling) นักจิตวิทยาคลินิกและศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์ตฟอร์ดกล่าว

.

บทความบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งของ มิลเลอร์ กล่าวว่า การสะกดจิตบำบัดสามารถช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัดของเด็ก ๆ  หรือความเจ็บปวดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการแพทย์อื่น ๆ 

.

ในบทความอื่น ๆ ของ มิลเลอร์ ยังกล่าวว่าเมื่อพูดถึงการเจ็บครรภ์ และการคลอด การสะกดจิตบำบัดอาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพยาบาลตามมาตรฐานได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งรวมถึงการ(ลด)ใช้ยาแก้ปวดและยาอื่นๆ

.

“การเลิกสูบบุหรี่มีประโยชน์มาก” ดร. เดวิด สปีเกล (Dr. David Spiegel) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสะกดจิตและศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดกล่าวเสริม 

.

การทดลองแบบสุ่มในปี 2550 กับผู้สูบบุหรี่ 286 คนพบว่า 20% ของผู้ที่ได้รับการสะกดจิตบำบัดสามารถเลิกบุหรี่ได้ เทียบกับ 14% ของผู้ที่ได้รับคำปรึกษาด้านพฤติกรรมมาตรฐาน ผลประโยชน์ในการเลิกบุหรี่จะยิ่งเด่นชัดในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า ซึ่งบ่งบอกถึงประโยชน์เพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้นจากการสะกดจิตบำบัด

.

การสะกดจิตยัง “มีประโยชน์มาก” ในการบำบัดความเครียด ความวิตกกังวล และ PTSD อีกด้วย ดร.สปีเกลกล่าว 

.

การวิจัยพบว่าการสะกดบำบัดสามารถเปลี่ยนแปลงการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของบุคคลได้ด้วยวิธีลดความเครียดซึ่งมีผลให้ลดความไวต่อการติดเชื้อไวรัสได้อีกด้วย

.

คราวนี้มาถึงประเด็นที่น่าสนก็คือ หากเราตั้งคำถามว่า "สะกดจิตคืออะไร?" หรือ "เหตุใดการสะกดจิตจึงสามารถให้ประโยชน์ที่กล่าวมาเหล่านั้นได้?" นั่นอาจจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราถึงกับเวียนหัวได้เล็กน้อย “เพราะถ้าคุณถามผู้เชี่ยวชาญด้านการสะกดจิต 10 คนว่าการสะกดจิตทำงานอย่างไร? คุณอาจจะได้รับคำอธิบายที่แตกต่างกัน 10 ข้อ” มิลลิ่งกล่าว

.

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เกือบทุกคนในวงการนี้ต่างกฌยอมรับว่าการสะกดจิตนั้น มีสองขั้นตอนสำคัญซึ่งโดยปกติจะเรียกว่า "การชักนำ" (induction) และ "ข้อเสนอแนะ" (suggestion)

.

“ในระหว่างการชักนำ (induction) ผู้ถูกสะกดจิตมักจะได้รับคำบอกให้ผ่อนคลาย โดยเน้นความสนใจของเขา(หรือเธอ)ไปที่การชักนำให้เข้าสู่การสะกดจิต” มิลลิ่งกล่าว 

.

ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาไม่กี่วินาทีจนถึง 10 นาทีหรืออาจจะนานกว่านั้น และเป้าหมายของการชักนำคือการทำให้จิตใจสงบและมุ่งความสนใจไปที่เสียงและคำแนะนำของนักบำบัดหรือผู้ให้คำปรึกษา

.

สำหรับขั้นตอน "ข้อเสนอแนะ" (suggestion) โดยมากจะเกี่ยวข้องกับการพูดกับบุคคลที่กำลังถูกสะกดจิต ผ่านเหตุการณ์และสถานการณ์สมมติที่มีเป้าหมายสำคัญคือช่วยให้เขา(หรือเธอ)ต่อต้าน หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและอารมณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ในการนี้ผู้รับการบำบัดจะได้รับเชิญให้สัมผัสกับเหตุการณ์ในจินตนาการราวกับว่าเป็นเรื่องจริง มิลลิ่งกล่าว

.

โดยประเภทของคำแนะนำที่ใช้จะขึ้นอยู่กับผู้เข้ารับการบำบัดและปัญหาเฉพาะของเขา(หรือเธอ)

.

ในบางวิธีการสะกดจิต อาจจะสามารถเปรียบได้กับการทำ "สมาธิแบบชี้นำ"หรือการเจริญสติ แนวคิดคือการละเว้นการตัดสินและปฏิกิริยาทางประสาทสัมผัสตามปกติและเพื่อเข้าสู่สภาวะที่มีสมาธิและการเปิดกว้างมากขึ้น 

.

ทั้ง มิลลิ่ง และ สปีเกล เปรียบเทียบการสะกดจิตแบบนี้กับการสูญเสียความรู้สึก "มีตัวตน" ของตัวเองในขณะที่เราอ่านหนังสือหรือดูภาพยนตร์ด้วยความเพลิดเพลิน มันจะเป็นช่วงเวลาที่โลกภายนอกเลือนหายไป และจิตใจของคนๆ หนึ่งจะหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่กำลังอ่านหรือดูอยู่ การวิจัยยังอ้างถึงการสะกดจิตในลักษณะนี้ว่าเป็นการ "ลบล้างอัตตา" ชั่วคราว

.

“ในขณะที่คนส่วนใหญ่อาจรู้สึกกลัวว่าจะสูญเสียการควบคุมในการสะกดจิต แต่ในความเป็นจริงมันเป็นวิธีการเพิ่มการควบคุมจิตใจและร่างกาย” สปีเกลกล่าว 

.

แทนที่จะปล่อยให้ความเจ็บปวดหรือความวิตกกังวลเกิดขึ้นอย่างไร้การควบคุม การสะกดจิตกลับช่วยให้ผู้คนควบคุมความคิดและการรับรู้ของตนเองได้มากขึ้น

.

การสะกดจิตทำได้อย่างไร? 

.

การวิจัยของ สปีเกล แสดงให้เห็นว่า การสะกดจิตสามารถเกิดปฏิกริยาในสมองได้หลายส่วน รวมถึงบางส่วนที่เชื่อมโยงกับการรับรู้ความเจ็บปวดและการควบคุม นอกจากนี้ยังพบการสะกดจิตในส่วนที่เงียบ (quiet parts) ของสมองซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมวลผลทางประสาทสัมผัสและการตอบสนองทางอารมณ์

.

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับวิธีการทำงานของการสะกดจิต มิลลิ่ง กล่าว 

.

“เดิมที ฟรอยด์ (ซิคมุน ฟร็อยด์) ตั้งทฤษฎีว่า การสะกดจิตทำให้แนวขวางกั้นระหว่างจิตสำนึกและจิตใต้สำนึกอ่อนตัวลง” มิลลิ่ง กล่าวพร้อมเสริมว่าทฤษฎีนี้ส่วนใหญ่ถูกละทิ้งไป ในขณะที่บางคนอ้างว่าพลังของการสะกดจิตมีผลในลักษณะของยาหลอก (Placebo)

.

และอีกทฤษฎีหนึ่งก็คือ “การสะกดจิตทำให้ผู้คนเข้าสู่สภาวะที่จิตสำนึกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้พวกเขาตอบสนองต่อคำแนะนำในการสะกดจิตได้ดีมาก” มิลลิ่ง กล่าว 

.

พอมีการพูดถึงเรื่อง “สถานะของสติที่เปลี่ยนแปลงไป” ก็อาจจะฟังดูน่ากลัวเล็กน้อย แต่ก็ในความเป็นจริงการสะกดจิตก็ไม่ได้มีผลต่อการการสูญเสียสติหรือความจำแต่อย่างใด

.

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับประโยชน์จากการสะกดจิตอย่างเท่าเทียมกัน 

.

มิลลิ่ง กล่าวว่าผู้คนประมาณ 20% ตอบสนองต่อสิ่งนี้ “มาก” ในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่ตอบสนองเลย คนที่เหลืออีกราว 50% ถึง 60% ไปอยู่ที่ไหนสักแห่งในระหว่างนั้น 

.

หมายเหตุจากผู้เรียบเรียง - เพราะฉะนั้นการสะกดจิตบำบัดที่จะประสบความสำเร็จได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างเงื่อนไขเชิงบุคลิกภาพที่มีความพร้อมเป็นพื้นฐานสำคัญเสียก่อน เช่นความต้องต่อผลลัพธ์  ความรู้สึกเปิดกว้าง ความรู้สึกบายใจต่อกระบวนการและผู้ให้การบำบัด หรือการยินดีเป็นผู้รับฟัง เป็นต้น

.

“เด็ก ๆ มักจะสะกดจิตได้ง่ายและได้ผลมากกว่า” สปีเกล กล่าว

.

แต่แม้กระทั่งผู้ที่ได้คะแนนต่ำจากมาตร พวกเขาก็ยังได้สามารถรับประโยชน์จากการสะกดจิตบำบัด เคิร์ช กล่าวเสริม 

.

นอกจากนี้ เคิร์ช ยังกล่าวอีกว่า การมองว่าการสะกดจิตเป็น "ส่วนเสริม" ของการบำบัดในรูปแบบอื่น ๆ เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งต้องร่วมกับจิตบำบัดเช่นกระบวนการให้คำปรึกษา หรือการรักษาประเภทอื่น ๆ เท่านั้น 

.

 

มิลลิ่ง ย้ำประเด็นนี้ เขาเปรียบเทียบผู้ฝึกหัดที่ได้รับการฝึกฝนเฉพาะในการสะกดจิตกับช่างไม้ที่รู้วิธีใช้เครื่องมือเดียวเท่านั้น  “การจะเป็นช่างไม้ที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องใช้มากกว่าการรู้วิธีใช้เลื่อย” เขากล่าว 

.

“ควรขอรับความช่วย(บริการ)เหลือจากนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งได้รับการฝึกฝนด้านการสะกดจิตบำบัดตลอดจนเทคนิคทางจิตบำบัดอื่น ๆ”

.

และสุดท้ายนี้ ... อย่าคาดหวังว่าการสะกดจิตจะได้ผลอย่างดีเยี่ยมหลังจากการบำบัดเพียงเซสชั่นเดียว 

.

ผู้เชี่ยวชาญบางคนอาจกล่าวว่าการบำบัดครั้งเดียวก็สามารถได้รับประสิทธิภาพที่ดีได้ แต่ มิลลิ่ง ให้มีความเห็นว่า “โดยทั่วไปการบำบัดเพียงครั้งเดียวสำหรับการสะกดจิตบำบัดนั้นไม่น่าจะเป็นประโยชน์มากนัก”

.

หมายเหตุจากผู้เรียบเรียง - เพราะฉะนั้นการสะกดจิตบำบัดที่จะประสบความสำเร็จได้ จึงจำเป็นต้องมีการวางโปรแกรมบำบัดต่อเนื่องระยะยาว ไม่สามารถทำกันอย่างฉาบฉวยได้