Sigmund Freud Defense Mechanism
ฟรอยด์อธิบายว่ามนุษย์ไม่สามารถหลักหนีความกังวลและความเครียดได้ ภาวะบีบคั้นจิตใจเหล่านี้มนุษย์ไม่พึงปรารถนาจึงพยายามหาทางผ่อนคลาย ซึ่งเป็นหน้าที่ของอีโก้ที่จะต้องเสาะแสวงหาวิธีลดภาวะตึงเครียดนั้น ๆ โดยใช้วิธีการที่เรียกว่า กลไกการป้องกันตัวเอง
กลวิธีการป้องกันตัวเองนั้นเป็นกลยุทธ์ที่บุคคลนำมาใช้เพื่อลดสภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยการบิดเบือน ปฏิเสธ ไม่ยอมรับ และ หลีกเลี่ยงสถานการณ์นั้น ๆ การใช้กลวิธีการป้องกันตัวเองยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะยกย่องตัวเอง ทำให้ตนรู้สึกว่ามีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และขจัดความกลัวต่าง ๆ ที่มารบกวนจิตใจให้หมดไป แต่ถ้านำไปใช้กับทุกเรื่องจนเคยชินเป็นนิสัยแล้วจะเป็นผลเสียต่อบุคลิกภาพของตนได้
ฟรอยด์เชื่อว่ากลวิธีการป้องกันตัวเองนี้จะเกิดขึ้นในระดับจิตใต้สำนึก ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ
-------------------------------------
I. แบบสู้สถานการณ์ (Aggressive Reaction)
แบบสู้สถานการณ์หมายถึงวิธีการปรับตัวด้วยการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคนั้น ๆ ที่มาขัดขวางความต้องการการตน การปรับตัวแบบนี้เป็นได้ทั้งทางสร้างสรรค์และทำลาย กลไกการปรับตัวแบบสู้สถานการณ์นี้ได้แก่ การแสดงความก้าวร้าว (aggressive) ซึ่งเป็นไปได้ทั้งทางวาจาและการใช้กำลัง แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
1. ก้าวร้าวทางตรง (Direct Aggressive) เป็นการเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบตรงไปตรงมา คือ เมื่อพบว่าปัญหาคืออะไรก็ระบายอารมณ์กับสิ่งนั้นโดยตรง เช่น ลูกซนมาก ก็ตีลูกอย่างรุนแรง
2. ก้าวร้าวทางอ้อม (Indirect Aggressive) เรียกได้อีกชื่อว่า การย้ายที่แสดงความก้าวร้าว กล่าวคือ เป็นวิธีการที่ใช้ในกรณีที่บุคคลไม่สามารถแสดงออกซึ่งความก้าวร้าวและความไม่พอใจกับตัวต้นเหตุได้โดยตรง จึงก่อให้เกิดความทุกข์ ความคับข้องใจขึ้น จึงระบายออกด้วยการแสดงความก้าวร้าวกับสิ่งอื่น หรือบุคคลอื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เช่น ถูกเจ้านายตำหนิอย่างรุนแรงก็หันไปเตะสุนัขข้างถนนแทน หรือ ความเห็นไม่ลงรอยกันในที่ประชุมก็ระบายออกด้วยการทุบโต๊ะเสียงดัง
-------------------------------------
II. แบบหนีสถานการณ์ (Withdrawal Reaction)
แบบหนีสถานการณ์หมายถึงการปรับตัวโดยการใช้วิธีการใด ๆ ทำให้ตนเองพ้นไปจากต้นตอของปัญหาที่เป็นเหตุของความทุกข์ ซึ่งแบ่งเป็น
1. การเก็บกด (Repression) เป็นวิธีการที่ใช้ในกรณีที่ตนต้องการจะลืมปัญหา บุคคล ประสบการณ์ร้าย ๆ หรือสถานการณ์ที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ โดยการเก็บกดต้นเหตุของปัญหานั้น ๆ ลงไปสู่จิตใต้สำนึก ไม่ให้ตนเองจำได้ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองจากความรู้สึกที่มากระทบกระเทือนจิตใจ เช่น ลูกโดนแม่ตีตั้งแต่เด็ก ๆ โดยที่ตนไม่ได้ทำผิด แต่ทำอะไรไม่ได้จึงซ่อนความคับข้องใจนั้น ๆ ลงไปในจิตใต้สำนึก เพื่อให้ตนเองลืมความรู้สึกไม่พอใจแม่ตัวเองไป
2. การฝันกลางวัน (Fantasy) พบว่าสำหรับบุคคลที่ใช้กลวิธีการป้องกันตัวแบบนี้มักเป็นคนที่ประสบกับความผิดหวัง หรือล้มเหลวในชีวิตประจำ หรือมีความคาดหวังในชีวิตสูงเกินไปซึ่งไม่อาจทำให้เป็นจริงได้ ดังนั้นเพื่อทำให้ตนเองพ้นจากสภาวะที่เป็นทุกข์นี้จึงเลือกใช้วิธีฝันกลางวัน เพ้อฝัน สร้างจินตนาการเพื่อตอบสนองความปรารถนาของตนที่ไม่มีวันเป็นไปได้ เช่น เรียนไม่เก่ง สอบตกเป็นประจำ แต่ฝันอยากจะมีเงินเดือนสูง ๆ ได้ทำงานตำแหน่งดี ๆ เป็นวิธีการที่คนทั่วไปมักนิยมใช้กันมาก เพราะช่วยลดความเครียดได้ดี
3. การถดถอย (Regression) กลวิธีนี้ใช้ในกรณีที่บุคคลไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการของตนจนทำให้เกิดเป็นความทุกข์ขึ้น จึงหันไปแสดงพฤติกรรมที่เคยกระทำสมัยที่เป็นเด็ก ๆ ที่เมื่อทำแล้วได้รับการตอบสนองหรือสมหวัง เช่น กระทืบเท้า ร้องไห้งอแง กัดเล็บ ปัสสาวะรดที่นอน หรือถ้าอยู่ในวัยผู้ใหญ่ก็สามารถรวมไปถึงการหันกลับไปแต่งตัวเลียนแบบเด็กหรือวัยรุ่น เนื่องจากวิธีนี้ผู้ใช้มักเป็นผู้ที่ขาดความรัก ความอบอุ่น และการขาดความเอาใจใส่ วิธีนี้จึงเป็นวิธีการเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น เช่น ผู้หญิงมีอายุแล้วแต่กลับใส่เสื้อสายเดี่ยว นุ่งกระโปรงผ่าสูง แสดงท่าทางราวกับวัยรุ่น
4. การหลบหนี (Withdrawal) เป็นวิธีการหนีจากสถานการณ์ที่สร้างความทุกข์ ยิ่งหนีไปได้ห่างเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น เช่น อกหักจากคนรักที่ทำงานที่เดียวกันจึงลาออกจากงาน บางครั้งรุนแรงถึงขั้นแยกตัวจากสังคมไปอยู่ตามลำพัง ไม่สนใจรับรู้โลกภายนอก ซึ่งเป็นอาการของโรคจิตเภทประเภทหลีกหนีสังคม (schizophrenia) ขั้นร้ายแรงที่สุดคือการฆ่าตัวตายเพื่อหนีปัญหา ผู้ที่ใช้กลวิธีการป้องกันตัวแบบนี้มักเป็นผู้ที่ถูกเลี้ยงดูแบบไม่มีการฝึกให้รู้จักการแก้ปัญหาตั้งแต่เด็ก มีความอ่อนแอทางจิตใจ ท้อถอยง่ายเมื่อพบกับอุปสรรคเป็นต้น
5. การต่อต้าน (Negativism) เป็นวิธีการเลี่ยงสถานการณ์แบบหนึ่ง โดยการใช้วิธีต่อต้าน ขัดขืน คัดค้านต่อสาเหตุที่ทำให้ทุกข์ ด้วยการไม่ให้ความร่วมมือ ปฏิเสธข้อตกลงทุกอย่าง และคัดค้านทุกเรื่อง คนที่ใช้กลวิธีนี้มักมีลักษณะคล้ายกับผู้ที่ใช้กลวิธีการถดถอย คือเป็นคนที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ ขาดความรัก วิธีนี้จึงเป็นวิธีการเรียกร้องความเอาใจใส่จากสังคม เช่น ถ้าพ่อสั่งให้ทำงานบ้านก็จะไม่ทำ ขัดขืนคำสั่งทุกอย่างของพ่อเพื่อเรียกร้องความสนใจจากพ่อ
6. การปฏิเสธไม่ยอมรับความจริง (Denial) การปรับตัววิธีนี้เนื่องจากเหตุการณ์ที่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นนั้นมีผลกระทบต่อจิตใจอย่างรุนแรงจนตัวเองรับความเป็นจริงไม่ได้ จึงไม่ยอมรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น คนรักเสียชีวิต แต่กลับคิดและทำเหมือนเขายังมีชีวิตอยู่ ฟรอยด์ถือว่ากลวิธีการปฏิเสธไม่ยอมรับความจริงนี้เป็นกลวิธีการป้องกันตัวเองที่มีระดับรุนแรงมากที่สุด
-------------------------------------
III. แบบประนีประนอมสถานการณ์ (Compromise Reaction)
เป็นลักษณะของกลวิธีการป้องกันตัวประเภทพบกันครึ่งทาง ออกมาในรูปของการหาวิธีใหม่ เปลี่ยนความต้องการ หรือเป้าหมายใหม่ซะ ซึ่งได้แก่
1. การชดเชย (Displacement) ผู้ใช้กลวิธีประเภทนี้มักจะเป็นผู้ที่รู้ข้อบกพร่องของตนเอง หรือปมด้อยของตนเอง จึงพยายามที่สร้างปมเด่นขึ้นมาเพื่อชดเชยปมด้อยนั้น ๆ รวมไปถึงการเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ เมื่อคิดว่าเป้าหมายเดิมตนไม่อาจจะเอาชนะอุปสรรคที่มีอยู่ได้ ทั้งนี้การชดเชยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ
การทดแทน (compensation) เป็นการสร้างปมเด่นด้านอื่น ๆ ขึ้นมาทดแทนปมด้อยที่ตนมีอยู่ เช่น เป็นคนพิการ เดินไม่ได้ จึงพยายามเรียนให้เก่งจนประสบความสำเร็จเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่โด่งดังไปทั่วโลก
การทดเทิด (sublimation) ผู้ใช้กลวิธีการป้องกันตัวประเภทนี้จะพยายามพัฒนาปมด้อยของตนให้กลายมาเป็นปมเด่น เช่น เป็นคนก้าวร้าวจึงหันไปเอาดีด้านชกมวยจนได้เป็นแชมป์
2. การแกล้งทำ (Reaction Formation) เรียกได้อีกอย่างว่า การแสดงพฤติกรรมตรงข้ามกับความเป็นจริง โดยที่ผู้ใช้วิธีนี้จะเก็บกดความรู้สึกที่แท้จริงเอาไว้ ไม่กล้าแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา เนื่องด้วยเหตุจำเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ไม่ให้บุคคลในสังคมตำหนิ หรือ เพื่อเป็นการรักษาศักดิ์ศรีของตนเอาไว้ เช่น ผู้เข้าประกวดนางสาวไทยอิจฉาเพื่อนที่ได้รับตำแหน่งนางสาวไทยไปแต่กลับแสดงความดีใจออกนอกหน้าจนเกินเหตุ โดยทั่วไปผู้ที่ใช้กลวิธีประเภทนี้จะสามารถถูกสังเกตพฤติกรรมได้ง่าย เนื่องจากมักจะแสดงออกมากจนเกินไปเป็นที่ผิดสังเกต วิธีการนี้ตรงกับสุภาษิตไทยหลายสำนวนเช่น ปากหวานก้นเปรี้ยว หน้าเนื้อใจเสือ หรือ ปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ ผู้ที่ใช้กลวิธีนี้เป็นประจำจะทำให้มีบุคลิกภาพที่ไม่น่าเชื่อใจ จนทำให้ขาดเพื่อนและอยู่ในสังคมได้ลำบาก
3. การซัดทอดโทษผู้อื่น (Projection) พบว่ากลวิธีนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่คนนิยมใช้กัน ซึ่งเกิดจากเมื่อบุคคลได้กระทำความผิดขึ้นมาแล้วทำให้ตนเองนั้นรู้สึกผิด แต่เพื่อให้ความรู้สึกผิดนั้นน้อยลงจึงใช้วิธีโยนความผิดให้กับผู้อื่น ทำให้ตนเองรู้สึกสบายใจและไม่เสียหน้า เช่น ตื่นสายจึงมาเข้าเรียนไม่ทัน แต่กลับโทษว่ารถติด กลวิธีชนิดนี้ตรงกับสำนวนไทยว่า รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง ถ้าหากใช้บ่อย ๆ จะกลายเป็นผู้ที่ไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับความผิดที่ตนได้ก่อขึ้น จนไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย
4. การหาเหตุผลเข้าข้างตนเอง (Rationalization) เป็นวิธีการปรับตัวที่บุคคลพยายามหาเหตุผลต่าง ๆ นานา ที่ไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงขึ้นมาอ้าง เพื่อลบล้างความผิดพลาด หรือความผิดหวังที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการรักษาหน้า ภาพพจน์ และศักดิ์ศรีของตนเอาไว้ แบ่งเป็น 2 ลักษณะได้แก่
- แบบองุ่นเปรี้ยว (sour grape reaction) เป็นลักษณะการปรับตัวแบบปลอบใจตัวเอง ด้วยการหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งที่ตนต้องการนั้นมีข้อบกพร่อง หรือเป็นสิ่งที่ไม่ดีพอสำหรับตนเอง เช่น ใจจริงอยากมีแฟน แต่หาแฟนไม่ได้ จึงอ้างว่ามีแฟนแล้วจะทำให้ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง
- แบบมะนาวหวาน (sweet lemon reaction) วิธีนี้จะเป็นวิธีที่ตรงข้ามกับวิธีแบบองุ่นเปรี้ยว คือ สิ่งที่ตนเองได้มาในขณะนั้นเป็นสิ่งที่ตนไม่ชอบหรือมีข้อบกพร่อง บุคคลจึงต้องยกข้อดีหรือจุดเด่นต่าง ๆ ของสิ่งนั้น ๆ ขึ้นมากล่าวอ้างเป็นเหตุผลเพื่อลบข้อบกพร่องเหล่านั้นออกไป เช่น อยากได้แฟนสวย ๆ แต่ในความเป็นจริงแฟนกลับไม่สวย จึงอ้างว่าถึงแฟนไม่สวยแต่ก็เป็นคนใจดี
5. การเลียนแบบ (Identification) คือ การเลือกบุคคลบางคนมาเป็นแบบอย่างเพื่อทำตาม รวมถึงการกล่าวอ้างว่ารู้จักสนิทสนมใกล้ชิดกับบุคคลบางคน เพื่อให้ได้รับการยอมรับหรือเพื่อเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น กระบวนการเลียนแบบนี้มักจะผันแปรไปตามอายุของคน ฟรอยด์ยังได้กล่าวว่าคนไม่ลอกแบบทุกสิ่งทุกอย่างจากต้นแบบ แต่เขาจะเลือกเอาเฉพาะบุคลิกภาพที่เขาต้องการเท่านั้น
6. การติดชะงัก (Fixation) โดยปกติแล้วมนุษย์เราย่อมมีพัฒนาการจากขั้นหนึ่งไปสู่อีกขั้นหนึ่งตลอดเวลาตามวัย แต่สำหรับบุคคลที่ใช้กลวิธีนี้ในการปรับตัวมักจะชะงักติดในวัยใดวัยหนึ่งโดยไม่ยอมพัฒนาบุคลิกภาพต่อไป เพราะกลัวว่าหากมีพัฒนาการไปแล้วตนเองจะสูญเสียความมั่นคงทางจิตใจ หรือต้องพบกับความทุกข์ยากลำบากที่จะเกิดขึ้น เช่น พวกที่ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดชีวิตไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเพราะไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ จะนำมาซึ่งผลดีกับตน
7. การแสดงความเจ็บป่วยทางร่างกาย (Physical Ailment or Conversion Reaction) เป็นการแสดงวิธีการปรับตัวเพื่อต้องการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้ตนเองเป็นทุกข์ โดยร่างกายจะสร้างความเจ็บป่วยหรือพิการชั่วคราวขึ้นมาเอง โดยเจ้าตัวไม่ได้มีเจตนาที่จะแกล้งป่วยหรือแกล้งทำ แต่เป็นการแสดงออกทางจิตชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อพ้นสถานการณ์นั้น ๆ ไปแล้วอาการทุกอย่างก็จะหายไปเอง เช่น โดนเพื่อนแกล้งบ่อย ๆ จึงปวดท้องทุกครั้งที่จะต้องไปโรงเรียน