Learning NLP ตอนที่ 9 “ความถนัด”

   


ความถนัดหมายถึงบางสิ่งที่เรารู้สึกว่าเมื่อทำแล้วมันสามารถทำง่ายกว่าสิ่งอื่นๆ
 
คนเราทุกคนล้วนมีความถนัดของตนเองอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น เช่นบางคนถนัดทำอาหาร บางคนถนัดซ่อมเครื่องยนตร์
 
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มสูงว่าเราจะเลือกทำในสิ่งที่เราถนัดก่อนสิ่งอื่นเสมอ เช่นถ้าเราให้ช่างประปาไปซ่อมท่อน้ำ มันก็คงง่ายกว่าการที่จะให้เขาไปซ่อมสายไฟ
 
การใช้งานคนให้ถูกต้องสอดคล้องกับความถนัดที่เขามีอยู่จึงเป็นเคล็ดลับง่ายๆ อีกประการหนึ่งของความสำเร็จ (โดยเฉพาะในเรื่องของการชักจูงผู้อื่น)
 
สำหรับระบบประสาทการรับรู้ของเราก็เช่นกัน มันมีความถนัดของมันอยู่ด้วย
 
ระบบประสาทการรับรู้ของเรามีอยู่ 5 ช่องทางด้วยกันคือการรับรู้ที่เป็นภาพ เสียง กลิ่น รสชาติ ความรู้สึกสัมผัส แต่โดยส่วนมากคนเราจะถนัดการใช้ระบบประสาทแบบการรับรู้ภาพมากกว่าการรับรู้แบบอื่นๆ
 
คำว่าถนัดในที่นี้ก็คือง่ายที่ระบบประสาทจะรับรู้ด้วยวิธีการนั้นๆ
 
เช่นถ้าเราได้ยินคำว่า “กระเพราไก่ไข่ดาว” เชื่อเถอะว่าคนส่วนมากจะนึกถึงภาพของมันก่อนเป็นอันดับแรก มีน้อยคนมากที่จะนึกถึงรสชาติหรือว่ากลิ่นหอมของมันได้ในทันที
 
หรือถ้าเราได้ยินคำว่า “เปียนโน”คนส่วนมากก็จะนึกถึงภาพของเครื่องดนตรีชนิดนี้มากกว่าที่จะนึกถึงเสียงของมันซะอีก
 
ถัดจากความถนัดในการรับรู้ด้วยภาพจึงเป็นเรื่องของเสียง และความรู้สึกสัมผัส ซึ่งจะลดหลั่นกันลงไปตามลำดับ ส่วนกลิ่นและรสชาติแทบจะไม่ค่อยมีบทบาทเสียเท่าไหร่ ดูเหมือนว่าเราจะใช้มันตามความจำเป็นเท่านั้น
 
แต่หลักเกณฑ์ที่ว่ามานี้มันก็ไม่เสมอไปเสียทีเดียว
 
เพราะปรากฏว่ายังมีคนอีกบางกลุ่มที่ถนัดใช้ระบบประสาทการรับรู้ด้วยเสียงมากกว่าภาพ คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ด้วยการรับรู้ที่เป็นเสียงมากกว่าอย่างอื่น
 
เราพบลักษณะการตอบสนองแบบนี้ได้ในกลุ่มของพวกมนุษย์ตรรก คือเป็นคนที่ใช้ความคิดในเชิงเหตุผลมากๆ คนกลุ่มนี้จึงมักเป็นผู้จินตนาการ (เป็นภาพ) ไม่เป็น แต่จะมีความเชี่ยวชาญการคิดวิเคราะห์ด้วยข้อมูลในเชิงเหตุผลหรือตัวเลขมากกว่าคนอื่น
 
และกลุ่มที่น้อยที่สุดเห็นจะเป็นคนที่ถนัดใช้ระบบประสาทการรับรู้ด้วยความรู้สึกสัมผัส คนกลุ่มนี้ถือว่าพบได้ไม่บ่อยนัก
 
เราต้องเข้าใจว่าระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 ( ภาพ เสียง กลิ่น รสชาติ ความรู้สึกสัมผัส) เป็นสิ่งที่จะต้องใช้ครบทั้ง 5 ส่วนอย่างแน่นอน เพียงแต่ความถนัดจะทำให้ระบบประสาทของเราเลือกที่จะใช้การรับรู้อย่างใดอย่างหนึ่งมากเป็นพิเศษ
 
และอย่างที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ตอนแรกแล้วว่าการใช้ให้คนทำสิ่งที่ถนัดนั้น เราย่อมใช้เขาง่ายมากกว่าการใช้ให้ไปทำสิ่งที่ไม่ถนัด
 
สำหรับระบบประสาทก็เช่นเดียวกันถ้าเราป้อนข้อมูลด้วยรูปแบบที่มีสอดคล้องกับความถนัด ระบบประสาทก็ย่อมสามารถที่จะยอมรับต่อข้อมูลเหล่านั้นได้ง่ายกว่าข้อมูลประเภทอื่นๆ
 
อธิบายง่ายๆ ก็คือถ้าเรารู้ว่าคนที่อยู่ตรงหน้าเรานี้เป็นคนที่มีระบบประสาทถนัดการมองเห็นภาพ การนำเสนอข้อมูลที่เป็นภาพ (เช่นแพ็คเกจสวยๆ หรือข้อมูลที่ทำมาเป็นกราฟฟิกอินโฟ) ก็ย่อมทำให้สมองของเขาสามารถยอมรับต่อข้อมูลพวกนั้นได้ง่ายกว่าการบรรยายเหตุผลที่เป็นเสียง
 
และในทางตรงกันข้าม สำหรับคนที่มีระบบประสาทถนัดการได้ยิน หากหากเรานำเสนอข้อมูลที่เป็นเสียง (เช่นเหตุผลหรือเงื่อนไขต่างๆ) ก็ย่อมทำให้เขาสามารถยอมรับต่อข้อมูลพวกนั้นได้ง่ายกว่าการนำเสนอด้วยรูปภาพจูงใจ
 
หลักการง่ายๆนี้นัก NLP นำเอามาใช้ประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ ตั้งแต่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการใช้เทคนิคปรับแต่งแก้ไขพฤติกรรมแบบต่างๆ ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากในเนื้อหาวิชา NLP ตลอดจนไปถึงการใช้เป็นตัวช่วยในการผูกมิตรสัมพันธ์อย่างรวดเร็ว (Raport) ซึ่งมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคน
 
เรียกว่าตั้งแต่นัก NLP นักธุรกิจ ผู้บริหาร นักประชาสัมพันธ์ ครูหรือวิทยากรผู้ถ่ายทอดความรู้ เซลแมนขายของ เรื่อยไปจนถึงการผูกมิตรสัมพันธ์ภายในครอบครัวกันเลยทีเดียว