Disassociate

   


 เอ็นแอลพีค้นพบว่าเมื่อไรก็ตามที่เราเปลี่ยนสถานะจาก “ผู้ร่วมเหตุการณ์” เป็น “ผู้สังเกตการณ์” แล้วล่ะก็ ความรู้สึกร่วมที่มีต่อเหตุการณ์นั้นจะหายไปโดยอัตโนมัติ

ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณกำลังถูกเจ้านายเรียกเข้าตำหนิเรื่องงานที่คุณรับผิดชอบ มันก็เป็นเรื่องปกติที่สุดหากคุณจะรู้สึกอึดอัดหรือไม่พึงพอใจ ทั้งนี้ก็เพราะคุณและเจ้านายต่างก็เป็นผู้ร่วมเหตุการณ์ในครั้งนี้ แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่คุณถอยออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ คุณไม่ได้ถูกเจ้านายตำหนิแต่คุณกำลังเฝ้ามองพนักงานอีกคนหนึ่งถูกตำหนิแทน ความรู้สึกอึดอัดหรือไม่พึงพอใจก็จะลดน้อยหรือหายลงไปในทันที 
 
การที่ความรู้สึกจะลดน้อยหรือจะหายไปนั้น ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับว่าคุณรู้สึกว่าคุณยังมีส่วนร่วมอยู่กับเหตุการณ์ที่คุณกำลังเฝ้ามองมากน้อยขนาดไหน เช่นถ้าคนที่คุณกำลังมองเป็นลูกน้องคนโปรด คุณก็อาจจะมีอารมณ์ด้วยนิดหน่อย แต่ถ้าเป็นคนที่คุณไม่รู้จักคุณก็อาจจะเฉยๆ ไม่รู้สึกอะไรเลยก็เป็นได้ 
 
และในหลายกรณีก็ยังพบอีกว่าผู้มองเหตุการณ์บางคนกลับมีอารมณ์ร่วมไปด้วยอย่างเต็มที่ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้มีส่วนร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าผู้เฝ้ามองได้เอาตัวตนของตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นอย่างเต็มที่นั่นเอง 
 
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือตอนที่เรากำลังดูหนังสยองขวัญ โดยเฉพาะฉากประทุษร้ายประเภทฉากปาดคอเลือดสาด คุณอาจจะเคยเจอ (หรืออาจจะเคยเป็น) คนที่ดูฉากแบบนี้แล้วรู้สึกเสียวแปลบที่คอตามไปด้วย ทั้งที่นั่นเป็นเพียงแต่ภาพที่อยู่ในจอโทรทัศน์ก็เท่านั้น สาเหตุที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าระบบประสาทของเขาเกิดการเข้าร่วมกับประสบการณ์ที่รับรู้อย่างเต็มที่แทนที่จะหยุดเอาไว้แค่การเป็นผู้สังเกตการณ์นั่นเอง
 
ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้จะนำเราไปสู่เทคนิคที่เรียกว่า “การถอยห่างออกจากประสบการณ์” (Disassociate) 
 
สำหรับประสบการณ์ใดหรือความรู้สึกใดก็ตามที่เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหาคั่งค้างคาใจ ทำร้ายจิตใจ หรือทำให้เรารู้สึกทุกข์ใจไม่สบายใจ ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ขื่นขม ความผิดหวัง ความรุนแรง เคยถูกทำร้าย หรือแม้แต่ความรู้สึกผิดที่เคยไปทำร้ายคนอื่น ประสบการณ์เหล่านี้ เราสามารถทำให้มันหมดความสำคัญได้ด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้
 
1. เข้าสู่สภาวะ Downtime เริ่มต้นด้วยการหาที่เงียบสงบ จากนั้นนั่งหรือนอนลง จัดวางร่างกายในท่าทางที่สบายและผ่อนคลาย ปิดเปลือกตาลงเบาๆ หายใจลึกๆ ช้าๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลายร่างกายซัก 5 ครั้งโดยไม่ต้องจริงจังนับจำนวนครั้งมากนัก ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วนทั่วร่างกายให้มีความรู้สึกเบาสบายทั่วทั้งตัว
 
2. เข้าร่วมเหตุการณ์ จินตนาการถึงเหตุการณ์เลวร้ายหรือปัญหาฝังใจของคุณ ขอให้คุณจินตนาการถึงภาพ เสียง ความรู้สึกสัมผัส ในลักษณะของบุคคลที่หนึ่ง คือ คุณเข้าไปอยู่เหตุการณ์นั้นด้วยตัวเอง รับรู้ภาพด้วยตาของคุณเอง รับรู้เสียงด้วยหูของคุณเอง และรู้สึกสัมผัสด้วยผิวหนังร่างกายของคุณ ทั้งหมดนี้ราวกับว่าคุณได้พาตัวเองย้อนเวลากลับไปยังเหตุการณ์นั้นอีกครั้ง มาถึงตรงนี้คุณอาจจะรู้สึกอึดอัด คุณอาจจะรู้สึกแย่สักหน่อยที่จะต้องกลับไปสู่เหตุการณ์นี้อีกครั้ง แต่ไม่เป็นไรเพราะนี่เป็นสัญญาณดีที่กำลังบอกคุณว่าขั้นตอนนี้ของเรากำลังประสบผลสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมและมันจะเป็นก้าวแรกที่จะนำคุณไปสู่การปิดฉากความขมขื่นนี้ตลอดไป
 
3. ถอยห่างออกเป็นผู้สังเกต จินตนาการถอยตัวของคุณออกไปเป็นผู้สังเกตการณ์ ตอนนี้คนได้หนีออกจากเหตุการณ์นั้นแล้ว การรับรู้ของคุณต่อเหตุการณ์นี้เหลือเพียงการเฝ้ามองจากวงนอกเท่านั้น มันเหมือนกับว่าคุณกำลังมองภาพยนตร์หรือภาพนิ่งเรื่องหนึ่งอยู่ โดยมีตัวคุณเองเป็นดารานำในเรื่องนั้น ผมอยากให้คุณมองมันอย่างตั้งใจ มองมันอย่างสงบ มองอย่างเข้าใจว่านั่นมันไม่ใช่ตัวตนของคุณในปัจจุบันอีกแล้ว สิ่งที่คุณกำลังเห็น กำลังได้ยินทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องราวหนึ่งที่จบไปแล้ว มันเพียงถูกนำมาฉายซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหัวของคุณก็เท่านั้นเอง
 
4. ฉายซ้ำอีกครั้ง เพื่อเป็นการยืนยันว่านี่เป็นเพียงเหตุการณ์ที่ถูกฉายซ้ำๆ เท่านั้นผมอยากให้คุณย้อนภาพที่คุณกำลังมองเห็นย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ และเมื่อคุณปล่อยให้ภาพเหตุการณ์มันเล่นของมันต่อไปคุณอาจจะทดลองหยุดภาพนั้นค้างเอาไว้ ลองตัดภาพไปที่ตอนจบของเหตุการณ์ หรือจะเล่นมันเริ่มต้นซ้ำใหม่ตั้งแต่ต้นอีกซักกี่รอบก็ได้ตามที่คุณต้องการ ทั้งหมดนี้ผมอยากให้คุณรับรู้ว่านี่เป็นเพียงเรื่องราวที่จบไปแล้วและมันก็แค่ฉายซ้ำๆ ในหัวของคุณ ตอนนี้ผมอยากให้คุณมองมาที่ตัวเองและมองกลับไปที่ภาพเหตุการณ์ตรงหน้าอีกครั้งพร้อมกับรับรู้ว่ามันไม่ได้เกี่ยวข้องกันอีกต่อไป คุณกับภาพนั้นอยู่ห่างไกลกันพอสมควร คุณไม่ได้เป็นส่วนร่วมของเหตุการณ์นั้นแย่ๆ อีกต่อไปแล้ว จะดีมากหากคุณจะกล่าวกับตนเองว่า “ภาพอยู่ตรงนั้น แต่ตัวฉันยืนอยู่ที่นี่ ฉันยังสบายดี ฉันยังมีความสุขดี ฉันไม่เกี่ยวอะไรเลยกับภาพพวกนั้น”
 
5. ถอยห่างออกมากยิ่งขึ้น ในหลายกรณีโดยเฉพาะกับประสบการณ์ที่รุนแรงหรือสะเทือนจิตใจมากๆ (เช่นถูกทำร้ายร่างกาย ถูกข่มขืน หรือคนที่รักได้ด่วนจากไป) ลำพังแต่ถอยห่างออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะให้คุณแยกตัวออกจากความรู้สึกนั้นได้อย่างสมบูรณ์ หากเป็นอย่างนั้นผมแนะนำให้คุณถอยห่างออกมาอีกโดยจินตนาการว่าคุณกำลังนั่งอยู่ในโรงภาพยนตร์ในแถวนี่นั่งหลังสุดโดยภาพในจอหนังกำลังฉายเหตุการณ์เรื่องราวอันขมขื่นของคุณอยู่ หรือคุณอาจจะจินตนาการว่าคุณกำลังนั่งบนโซฟาโดยกำลังมองเรื่องราวของตัวเองผ่านทางจอโทรทัศน์อยู่ก็ได้ ในกรณีที่คุณยังรู้สึกว่ามีส่วนร่วมอยู่อีกผมแนะนำให้คุณสร้างระยะห่างระหว่างภาพและคุณให้มากยิ่งขึ้นไปอีก คุณอาจจะจินตนาการว่าคุณถอยไปอยู่ที่ห้องฉายหนังหรือวางโทรทัศน์ให้ห่างออกไปอีก อาจจะปิดเสียงของมันด้วยก็ได้เพื่อให้คุณสงบได้ง่ายเมื่อต้องมองภาพเหตุการณ์ในจอเหล่านั้น หลังจากนั้นก็ทำเหมือนในขั้นตอนที่ 4 คือฉายภายซ้ำไปซ้ำมาแล้วมองดูมันอย่างสงบ มองดูอย่างเข้าใจว่านั่นเป็นเพียงภาพๆ หนึ่งที่ฉายซ้ำไปซ้ำมาเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรต่อตัวคุณเลย (หากขั้นตอนที่ 4 ประสบความสำเร็จดีก็ให้ข้ามขั้นตอนในข้อ 5 นี้ไปได้เลย)
 
6. ลาก่อนเหตุการณ์ที่เฝ้าสังเกต หลังจากที่คุณได้เฝ้ามองต่อเหตุการณ์ของตัวเองมามากพอสมควรแล้ว ตอนนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องบอกลามันเสียที ในขั้นตอนนี้คุณจะต้องจินตนาการว่าภาพในจอค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีดำ จากนั้นจอก็ค่อยๆ มืดลงจนในที่สุดก็เหลือเพียงจอสีดำๆ ไม่มีภาพอะไรอีก จากนั้นตัวอักษรคำว่า “The End” หรือ “จบบริบูรณ์” ก็แสดงขึ้นมาราวกับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ได้จบลงอย่างสมบูรณ์แล้ว คุณอาจจะจินตนาการถึงเพลงเพราะๆ หรือเพลงที่สนุกๆ ซักหนึ่งเพลงเปิดขึ้นมาประกอบ ถ้าคุณจินตนาการว่าคุณกำลังนั่งอยู่โรงภาพยนตร์แล้วล่ะก็อย่าลืมเปิดไฟไล่แขกเสียด้วยล่ะเพื่อที่จะยืนยันว่าหนังเรื่องนี้จบลงแน่ๆ แล้ว จากนั้นก็ขอให้คุณลืมตาขึ้นครับ