The Meta Model (เมต้าโมเดล) ตอนที่ 1

   


คำพูดต่างๆ นอกจากจะถูกใช้เพื่อการสื่อสารความต้องการหรือรู้สึกนึกคิดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่ง (หรือหลายคน) แล้ว 
 
คำพูดที่ถูกพูดออกมายังได้สำแดงถึงรูปแบบของกระบวนการ "สรุป" ข้อมูลจากการรับรู้ของระบบประสาทให้เปิดเผยตนออกมาสู่โลกภายนอกอีกด้วย
 
ผมคิดว่าเราน่าจะเคยได้ยินคำพูดหรือประโยคทำนองนี้กันมาบ้าง ... “ไอ้นี่มันมองหน้าหาเรื่องชัดๆ” “ชีวิตฉันมันช่างไร้ค่าจริงๆ” “ฉันว่าฉันทำสิ่งนี้ไม่ไหวแน่ๆ” หรือ “ทุกคนในโลกกำลังหัวเราะเยาะความผิดพลาดของฉัน”
 
สิ่งที่ชัดเจนประการแรกสำหรับประโยคเหล่านี้คือมันไม่ใช่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์อะไรเลยซักนิด ถ้าไม่ชวนทะเลาะ ก็ถมทำลายตัวเอง หรือไม่ก็เป็นปฏิเสธเพื่อหนีปัญหา ไม่ได้มีวี่แววเลยว่าถ้อยคำพวกนี้จะสร้างสรรค์อะไรให้มันงอกงามต่อเนื่องขึ้นมาได้ซักนิดเดียว 
 
นอกจากนี้หากเราสังเกตในรายละเอียดของคำพูดเหล่านี้ลงไปอีกซักนิดอีกซักนิด เราก็จะพบกับความผิดปรกติบางประการที่กำลังเกิดขึ้นภายในกระบวนการสื่อสารของระบบประสาทของพวกเขา
 
“ไอ้นี่มันมองหน้าหาเรื่องชัดๆ” แน่นอนความรู้สึกฉุนเฉียวไม่พอใจย่อมเกิดขึ้นพร้อมกับประโยคนี้อย่างไม่ต้องสงสัย 
 
ว่าแต่ว่าการมองหน้ามันหมายถึงการหาเรื่องชวนทะเลาะวิวาทกันตั้งแต่เมื่อไหร่กัน? 
 
ถ้าหากการมองหน้าหมายถึงการหาเรื่องชวนทะเลาะจริงๆ แล้วล่ะก็ต่อไปนี้เราคงต้องก้มหน้าตลอดเวลาที่ไปไหนมาไหนแน่ๆ เพราะคงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่มองหน้าใครเลยเวลาออกไปข้างนอก เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นใครถ้าเราไม่มองไปที่ใบหน้าของเขา 
 
ความจริงแล้วการถูกมองหน้ามันก็แค่การที่ใครซักคนกำลังมองมาที่ใบหน้าของเราก็เท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่านั้น เขาอาจจะมองเพราะรู้สึกคุ้นหน้าคุ้นตา มองเพราะอยากรู้จัก มองเพราะพอใจในรูปโฉม หรือความจริงอาจจะไม่ได้สนใจมองเราซักนิดเลยก็เป็นได้ซึ่งเราก็ไม่มีวันรู้หรอกจนกว่าจะเดินไปถามจากเจ้าตัวเขาเอง
 
“ชีวิตฉันมันช่างไร้ค่าจริงๆ” ความรู้สึกล้มเหลวบางอย่างหรือหลายอย่างเกิดขึ้นจนบางคนต้องพูดคำนี้ออกมา
 
แต่อย่างไรก็ตามขอให้เชื่อเถอะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามชีวิตมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งไร้ค่าอย่างแน่นอน อย่างน้อยก็เพราะว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งที่สามารถตีราคาได้ ไม่มีใครหรือสถาบันใดเลยในโลกนี้มาเป็นคนกำหนดราคาค่างวดของผู้คนว่าชีวิตของใครถูกของใครแพงกว่ากัน ดังนั้นเรื่องที่ว่าชีวิตไร้ค่านั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว
 
“ฉันว่าฉันทำสิ่งนี้ไม่ไหวแน่ๆ” ความรู้สึกสิ้นหวัง ท้อแท้ รวมไปถึงการยอมแพ้ยอมจำนนต่อปัญหากำลังเกิดขึ้นโดยแสดงออกมาผ่านทางคำพูดนี้
 
มั่นใจเถอะว่าสำหรับคนทั่วไปแล้วไม่มีใครมองเห็นอนาคตได้จริงๆ หรอก เราไม่มีวันรู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร นี่เป็นหลักฐานที่สำคัญที่จะบอกว่าคำพูดนี้มันผิดแน่ๆ ยกเว้นแต่ว่าคนพูดจะเป็นประเภทที่มีพลังวิเศษเหนือมนุษย์ธรรมดาสามารถมองเห็นอนาคตได้อย่างแม่นยำ แบบนั้นเขาจึงมีสิทธิ์ที่จะพูดว่าอะไรแน่หรือไม่แน่  แต่ที่แน่ๆ คือคนธรรมดาอย่างเราทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นแล้วเรา(หรือเขา)รู้ได้อย่างไรล่ะว่าไม่ไหว แน่หรือไม่แน่ ได้หรือไม่ได้ ในเมื่อยังไม่มีอะไรถูกลงมือทำเลยแม้แต่นิดเดียว
 
“ทุกคนในโลกกำลังหัวเราะเยาะความผิดพลาดของฉัน” เอาล่ะ เป็นเรื่องปรกติหากจะมีคนหัวเราะเราบ้างเวลาเวลาเราทำอะไรผิดพลาดไป แต่มันไร้สาระมากๆ หากจะบอกว่าประชากรจำนวนเจ็ดพันสามร้อยล้านคนกำลังหัวเราะเยาะตัวเองอยู่ ถ้าจะหัวเราะใครซักคนเราก็ควรที่จะหัวเราะคนที่คิดอะไรไรเสาระแบบนี้นั่นแหละ
 
แล้วความผิดพลาดเหล่านี้มาจากไหน? 
 
ก็มาจากกระบวนการ "สรุป" "ตัดทอน" และ "บิดเบือน" ในการรับรู้ที่กำลังเกิดขึ้นภายในระบบประสาท ซึ่งเกิดในทิศทางที่ไม่สร้างสรรค์ที่เคยกล่าวถึงนั่นแหละครับ  
 
อาจจะด้วยประสบการณ์บางอย่าง ความเชื่อบางอย่าง หรือการเรียนรู้ที่จะกำหนดคุณค่าให้กับสิ่งต่างๆ บางอย่างที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์นัก ท้ายที่สุดจึงส่งผลมายังกระบวนการรับรู้และสื่อสารที่ไม่สร้างสรรค์หรือผิดพลาดไป ซึ่งได้ถ่ายทอดจากภายในระบบประสาทของพวกเขาเหล่านั้นออกมาประจักษ์แจ้งสู่โลกภายนอกผ่านทางภาษาพูดของพวกเขา
 
NLP เสนอว่าเมื่อไรก็ตามคุณพบคำพูดที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านี้ คุณสามารถจัดการกับมันได้โดยอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่า
 
“เมต้าโมเดล” (Meta Model)
 
เมต้าโมเดลคืออะไร? .... ติดตามตอนต่อไป :)
 
Ref : NLPNeruo Linguistic Programming / Neuro / Linguistic / Programming /