Learning NLP ตอนที่ 3 “ภาษาของระบบประสาท”

   


สมมุติว่าเรามีเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เครื่องนึง ถ้าเราอยากให้เครื่องคอมพิวเตอร์นี้สามารถคำนวณบัญชีรายรับรายจ่ายประจำปีให้กับเราได้ เราก็จำเป็นที่จะต้องติดตั้งโปรแกรมสำหรับคำนวณบัญชีลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ตัวนั้นเสียก่อน
 
และเพื่อให้โปรแกรมถูกติดตั้งลงไป ข้อมูลจำนวนหนึ่งในรูปแบบภาษาเฉพาะซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์จะสามารถเข้าใจได้ (เช่นภาษา Basic ภาษา Java ภาษาC++ ภาษา Python หรืออื่นๆ) จะถูกป้อนเข้าไปในหน่วยความจำและทำงานอยู่ในระบบประมวลผล เพื่อทำให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ว่ามันจะต้องจัดการกับบัญชีรายรับรายจ่ายประจำปีของเราอย่างไรบ้าง
 
(เราจะอธิบายหรือสอนเครื่องคอมพิวเตอร์เหมือนสอนการบ้านลูกไม่ได้นะครับ คอมพิวเตอร์มันจะเข้าใจเราได้เราจะต้องใช้ภาษาเฉพาะของมันเท่านั้น ซึ่งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญภาษาคอมพิวเตอร์จนสามารถสอนให้คอมพิวเตอร์ทำนู่นทำนี่ได้มากมาย เราเรียกพวกเขาว่า “โปรแกรมเมอร์”)
 
สำหรับสมองของคนเราก็เป็นอะไรที่คล้ายๆ แบบนั้น คือถ้าต้องการให้ใครสักคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงจากคนที่มักจะประหม่ากลายเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเอง เราก็จำเป็นที่จะต้องทำให้สมองและระบบประสาทของเขาเกิดการเรียนรู้อะไรบางอย่างซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมั่นในตนเอง
 
อุปมาว่าเป็นการติดตั้งโปรแกรม “เชื่อมั่นในตัวเอง” ลงไปในสมองนั่นเอง
 
และขั้นตอนตรงนี้มันก็จะคล้ายกับเครื่องคอมพิวเตอร์ในแง่ที่ว่าข้อมูลและการเรียนรู้ที่จะถูกป้อนลงไปนั้นมันจะต้องมีรูปแบบของภาษาของมันโดยเฉพาะ ซึ่งสมองสามารถเข้าใจได้โดยตรง เหมือนกับที่เครื่องคอมพิวเตอร์เข้าใจภาษา Basic หรือภาษาC++
 
ภาษาที่เราจะใช้สื่อสารกับสมองโดยตรงนี้แหละ ที่เราจะเรียกมันว่า “ภาษาของระบบประสาท” หรือ Neuro-Linguistic
 
และเป็นเหตุผลที่สำคัญว่าทำไมจึงเรียกชื่อวิชานี้ว่า Neuro-Linguistic Programming หรือที่มักแปลความหมายกันเป็นภาษาไทยว่า “โปรแกรมภาษาระบบประสาท”