เรามีสุนัขจิ้งจอกอยู่ 2 ตัวในจิตใจ
พวกเราทุกคนมีสุนัขจิ้งจอกอยู่ 2 ตัวในจิตใจ ได้แก่สุนัขจิ้งจอกแห่ง “ความรัก” และสุนัขจิ้งจอกแห่ง “ความเกลียดชัง” ทุกๆ อย่างในชีวิตก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะให้อาหารเลี้ยงดูเจ้าสุนัขจิ้งจอกตัวไหนมากกว่ากันในแต่ละวันเท่านั้นเอง
ในขณะที่เจ้าจิ้งจอกแห่งความเกลียดชังได้เป็นข่าวมากกว่า (คือถูกสมองของเราให้ความสนใจมากกว่า) แต่ในความเป็นจริงแล้วเจ้าจิ้งจอกแห่งความรักนั้นตัวใหญ่กว่าและแข็งแรงมากกว่า เหตุผลก็เพราะว่าพัฒนาการของมัน (หมายถึงจิ้งจอกความรัก) ในหลายล้านปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่คอยผลักดันวิวัฒนาการสมองของพวกเรา
ตัวอย่างเช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกมีสมองที่ใหญ่กว่าสัตว์เลื้อยคลาน ทั้งนี้ก็มีสาเหตุมาจากการที่มันจะต้องบริหารจัดการสัมพันธภาพกับคู่และลูกๆของมัน และยิ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลลิง หากสายพันธุ์ใดก็ตามมีการเข้าสังคมกันมากเท่าไหร่ สมองของมันก็ยิ่งมีขนาดใหญ่มากยิ่งขึ้นเท่านั้น
ขนาดของสมองเกี่ยวข้องโดยตรงกับการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมของเผ่าพันธุ์นั้นๆ
ขนาดของสมองมนุษย์ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าในเวลา 3 ล้านปีที่ผ่านมา และการเติบโตในส่วนที่เพิ่มขึ้นของสมองนี้ ส่วนมากก็จะทุ่มเทไปในเรื่องทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่นความสามารถในการมีความรู้สึกร่วมและการวางแผนร่วมกัน เราต้องเข้าใจว่าในสภาวะแวดล้อมยากลำบากที่บรรพบุรุษของเราต้องเผชิญในยุคบรรพกาลนั้น การร่วมมือกันเพื่อให้อยู่รอดเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
หากใช้ชีวิตแบบตัวคนเดียวไม่มีพวกพ้องมาช่วยเหลือ โอกาสรอดก็แทบจะไม่มี
ดังนั้นปัจจัยต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมทำให้มนุษย์มีความสามารถในการร่วมมือกันจึงได้รับการถักทอขึ้นมาภายในสมองของพวกเรา สิ่งเหล่านี้ได้แก่ความไม่เห็นแก่ตัว ความมีน้ำใจ ความกังวลถึงชื่อเสียงของตนในสังคม ความยุติธรรม ทักษะทางด้านภาษา การให้อภัย รวมไปถึงเรื่องของศีลธรรมและศาสนา
ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้มนุษย์จะไม่สามารถอยู่รวมกันเป็นสังคมได้
เมื่อสมองของเรามีขนาดใหญ่ขึ้น มนุษย์ในสมัยแรกๆจึงต้องการช่วงเวลาในวัยเด็กที่ยาวนานขึ้นเพื่อพัฒนาและฝึกฝนสมอง และในขณะที่วัยเด็กใช้เวลานานขึ้น บรรพบุรุษของเราก็เลยต้องการหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะสร้างความผูกพันระหว่างพ่อแม่กับลูกและสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่ม เพื่อที่รักษาประชากรในกลุ่มเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ไม่ให้ต่างคนต่างอยู่แล้วปล่อยปละละเลยจนเด็กในกลุ่มต้องตายไปเพราะไม่มีใครปกป้อง (เพราะเด็กยังปกป้องตัวเองไม่ได้) เพื่อการนี้คนในบ้านจึงจำเป็นจะต้องถูกใช้ในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งให้เจริญเติบโตขึ้นมา
ความรักและความผูกพันจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการอยู่รอด
แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าสุนัขจิ้งจอกแห่งความเกลียดชังก็ได้มีวิวัฒนาการตามมาด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มชนนักล่าสัตว์และเก็บของป่ามักจะมีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกลุ่มเพื่อแย่งชิงทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด
ดังนั้นการมีความร่วมมือกันภายในกลุ่มจะช่วยทำให้ความก้าวร้าวระหว่างกลุ่มประสบความสำเร็จมากขึ้น และรางวัลสำหรับความก้าวร้าวที่ประสบความสำเร็จเช่น อาหาร คู่ครอง และความอยู่รอด ก็จะย้อนกลับไปส่งเสริมความร่วมมือกันภายในกลุ่มอีกที
ความร่วมมือกันและความก้าวร้าว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งก็คือความรักและความเกลียดชังจึงมีวิวัฒนาการร่วมกันมาอยู่เสมอ ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ศักยภาพและแนวโน้มที่จะประพฤติปฏิบัติตามแนวทางของความรักและความเกลียดชังจึงยังมีอยู่ในตัวของเราทุกวันนี้ไม่ได้หนีหายไป
เจ้าสุนัขจิ้งจอกแห่งความเกลียดชังทำให้ขอบเขตของความเป็นตัวเราแคบลง (หรือก็คือเราเห็นแก่ตัวได้มากขึ้นนั่นเอง) บางครั้งก็ถึงขั้นขนาดที่ว่าเหลือแต่เพียงตัวเราผู้เดียวอยู่ข้างในนั้นไม่เหลือใครคนใดคนอื่นอีก โดยธรรมชาติแล้วสมองจะจัดหมวดหมู่ความเป็น “พวกเรา” และ “พวกเขา” อยู่ตลอดเวลา และหลังจากนั้นมันก็จะเลือก “พวกเรา” โดยไปลดคุณค่าของ “พวกเขา” ดังนั้นจึงไม่ผิดหากจะบอกว่ามันเป็นการง่ายที่เราจะเห็นแก่ตัว เพราะอย่างน้อยธรรมชาติก็ออกแบบสมองของเราให้ง่ายที่จะเป็นอย่างนั้น
แต่อย่างไรก็ตามเราก็ไม่มีทางฆ่าจิ้งจอกแห่งความเกลียดชังนี้ได้ และการปฏิเสธก็เพียงแต่จะทำให้มันตัวโตขึ้นอยู่ภายในมุมมืดเท่านั้นเอง
เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องยอมรับเจ้าจิ้งจอกแห่งความเกลียดชัง และจำเป็นยิ่งกว่าที่จะต้องเห็นคุณค่าของพลังที่มีอยู่ภายในเจ้าจิ้งจอกแห่งความรัก
จากนั้นก็คอยยับยั้งเจ้าจิ้งจอกตัวหนึ่งเสียในขณะที่คอยบำรุงเลี้ยงอีกตัวหนึ่งให้เจริญเติบโต
นั่นเป็นหนทางที่ดีที่สุด
:)
เรียบเรียงและดัดแปลงมาจากเนื้อหาบางส่วนของหนังสือ “สมองแห่งพุทธะ”
ดร.ริค แฮนสัน และ นพ.ริชาร์ด เมนดิอัส เขียน
ดร. ณัชร สยามวาลา แปล