เปลี่ยนปมด้อยให้เป็นพลังที่สร้างสรรค์

   


อัลเฟรด แอดเลอร์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีปมด้อย (Inferiority Complex) ไม่ว่าจะด้วยปมด้อยทางด้านร่างกาย (เช่นความพิการ) หรือเป็นปมด้อยที่เกิดทางสังคมก็ตาม (เช่นชนชั้นวรรณะ หรือความยากจน)
 
ปมด้อยเหล่านี้เกิดมาจากเมื่อบุคคลนั้นเกิดปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นแล้วมีการเปรียบเทียบคุณสมบัติซึ่งกันและกัน หากเจ้าตัวมองว่าคุณสมบัติที่ตนเป็นอยู่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่ดีพร้อม ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ หรือยังสู้คนอื่นเขาไม่ได้ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกมีปมด้อยที่ว่านี้ขึ้นมา
 
และความรู้สึกที่ว่าฉันมีปมด้อยนี้เองที่จะทำให้เกิดแรงผลักดันอันจะนำไปสู่การดิ้นรนเพื่อเอาชนะปมด้อยของตนเอง โดยการพยายามสร้างปมเด่นบางอย่างขึ้นมาชดเชย เพื่อทำให้รู้สึกมั่นใจ พึงพอใจ หรือเป็นที่ยอมรับของบุคคลทั้งหลายในสังคม (ตามความรู้สึกของตัวเอง)
 
ปรากฏว่าคนที่ประสบความสำเร็จมากๆ หลายคนก็เป็นคนที่มีปมด้อยได้มาก่อน เช่น แฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ประธานาธิบดีหลายสมัยของประเทศสหรัฐอเมริกา ในวัยเด็กเขาเคยเป็นคนขี้โรคอ่อนแอมาก่อน ดีโมสทินิสนักพูดผู้ยิ่งใหญ่ของโลกก็เคยเป็นเด็กพูดติดอ่าง หรือสตีฟจ๊อบผู้โด่งดังสมัยเด็กก็มีฐานะยากจนมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก
 
ตามทฤษฎีของแอดเลอร์ เขาจึงมองว่าปมด้อยเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดปมเด่น ดังนั้นจึงด้อยจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือเป็นเรื่องเสียหายอะไร ในทางตรงกันข้ามปมด้อยดูเหมือนจะเป็นเรื่องจำเป็นอยู่นิดๆ ด้วยซ้ำไป เพราะถือว่าเป็นแรงผลักดันที่จะช่วยพัฒนาตัวบุคคลที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากบุคคลนั้นใช้พลังปมด้อยของตนเองไปสร้างปมเด่นอย่างสร้างสรรค์
 
เช่น เด็กที่รู้ตัวว่าเรียนไม่เก่งเพราะมีระดับของสติปัญญาไม่สูงเท่าคนอื่นจึงหันไปสร้างปมเด่นด้วยการฝึกฝนทักษะทางด้านกีฬาจนกระทั่งประสบความสำเร็จในฐานะนักกีฬา หรือเด็กที่รู้ตัวว่าฐานะไม่ดีก็ตั้งใจเรียนเพื่อให้ได้รับทุนกาศึกษาและก็เรียนไปเรื่อยๆ จนสามารถที่จะพัฒนาชีวิตของตนเองทั้งในแง่ของฐานะและสังคมให้ดียิ่งขึ้นมากกว่าที่เคยเป็น
 
แต่อย่างไรก็ตาม หากแรงผลักดันนี้ถูกใช้ไปในทางที่ผิด มันก็จะก่อให้เกิดปัญหาตามขึ้นมาเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน เช่นคนที่มีฐานะยากจนบางคนอาจเลือกที่จะไปเป็นนักค้ายาเสพติดเพื่อผลักดันตัวเองไปสู่ฐานะทางสังคมที่ดีกว่าตามความเข้าใจของเขา หรือคนบางคนก็พยายามที่จะนักเลงหัวไม้ คอยแต่จะระรานเอาเปรียบคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัว เพื่อชดเชยความรู้สึกว่าตัวเองอ่อนแอและเคยถูกข่มเหงในวัยเด็กเป็นต้น
 
ดังนั้น การแปรรูปแรงผลักดันจากปมด้อยไปสู่ปมเด่นในทิศทางที่สร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง บางทีปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันก็อาจจะเกิดมาจากแรงผลักดันที่ผิดที่ผิดทางนี่แหละ หากสามารถปรับแต่งแรงผลักดันที่มีอยู่ให้มุ่งไปสู่ความสร้างสรรค์ได้ มันก็ย่อมที่จะเป็นประโยชน์ต่อตนเองไม่น้อยเลยทีเดียว
 
ตามทฤษฎีของแอดเลอร์ พวกเราทุกคนล้วนมีปมด้อย (ไม่มากก็น้อย) และไม่สามารถที่จะหลีกหนีความมีปมด้อยไปได้ แต่สิ่งที่เราทำได้อย่างแน่นอนคือเปลี่ยนมันให้เป็นพลังที่สร้างสรรค์ เพื่อทำให้เราพัฒนาชีวิตไปสู่ความสุขและความสำเร็จได้อย่างแท้จริง
 
กระบวนการสะกดจิตบําบัดคือวิธีการหนึ่งซึ่งเราสามารถใช้ในการจัดการกับแรงผลักดันที่อยู่ภายในตัวตนของเราได้อย่างยอดเยี่ยม
 
การสะกดจิตจะเป็นเครื่องมือในการบอกกับจิตใต้สำนึกของเราว่าสำหรับปมด้อยที่มีอยู่นี้มันควรทำอย่างไร ควรไปในทิศทางไหนจึงจะเป็นการสร้างสรรค์อย่างแท้จริง
 
เปลี่ยนปมด้อยที่มีให้เป็นพลังงานที่สร้างสรรค์!!!