เบื้องหลังของคำว่าทำไม
การทดลองประหลาดๆ นี้เกิดขึ้นที่สวีเดน โดยอาสาสมัครผู้เข้าร่วมการทดลองจะได้รับภาพใบหน้าของหญิงสาวจำนวนหนึ่ง โดยที่เขาจะต้องเลือกภาพใดก็ได้ขึ้นมา 1 ภาพหากเขารู้สึกชอบภาพนั้นเป็นพิเศษ แล้วก็ส่งคืนให้กับผู้ดำเนินการทดลอง
จากนั้นผู้ดำเนินการทดลองก็จะถามกับอาสาสมัครว่า “ทำไม?” คุณจึงตัดสินใจเลือกภาพนี้
แน่นอนว่าเหตุผลมากมายสามารถพรั่งพรูออกได้มาจากคำตอบของอาสาสมัคร อาจจะประทับใจที่ความสวย ชอบทรงผม ชอบสีของลิปสติก ชอบตุ้มหูเก๋ๆ ชอบสีหน้าแววตาที่ดูมีมนต์เสน่ห์น่าประทับใจ หรือจะด้วยเหตุผลอื่นใดอีกก็ตามที
ความจริงแล้วมันไม่ควรเป็นประเด็นอะไรเลย หากผู้ดำเนินการทดลองจะไม่ “แอบเปลี่ยน” ภาพที่อาสาสมัครได้เลือกเอาไว้เป็นบางครั้ง
เรื่องน่าประหลาดใจก็คือประมาณ 4 ใน 5 ครั้ง (คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว) ที่อาสาสมัครจะไม่ได้สังเกตว่าภาพที่ตัวเองเลือกถูกสลับสับเปลี่ยนไปแล้ว
และที่น่าประหลาดใจกว่านั้นก็คือ เมื่อถามว่าทำไมคุณจึงเลือกภาพนี้? พวกเขาก็ยังคงตอบคำถามนั้นอย่างเต็มที่ด้วยความตั้งใจอันแน่วแน่ราวกับว่านั่นคือภาพที่พวกเขาได้เลือกกันขึ้นมาเอง
“ฉันชอบใบหน้าของเธอ” “ชอบทรงผม” “ชอบสีของลิปสติก” หรือ “ชอบตุ้มหูเก๋ๆ ที่เธอกำลังใส่อยู่”
คำตอบที่เหตุผลมากมายยังคงทำงานของมันได้เป็นปกติ
ถึงแม้ว่าในบางกรณีผู้หญิงที่อยู่ในภาพที่ถูกเลือกในตอนแรกนั้นจะไม่ได้ทาลิปสติกหรือใส่ตุ้มหูเก๋ๆ อยู่เลยก็ตาม?
แล้วเหตุผลพวกนี้มาจากไหน?
ก็คงต้องเกิดตามมาทีหลังนั่นแหละ
เหมือนคุณกินไก่ทอดเข้าไป 1 ชิ้นแล้วคุณก็รู้สึกว่ามันช่างเป็นไก่ทอดที่อร่อยเสียเหลือเกิน ใช่แล้ว! ฉันตัดสินใจที่จะกินไก่ทอดชิ้นนี้เข้าไปก็เพราะว่ามันอร่อย! บางทีคุณอาจจะคิดหรือรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แต่ถ้าคุณคิดให้ดีๆ คุณจะพบว่าตอนที่คุณกินเข้าไปนั้นคุณยังไม่รู้หรอกว่ามันอร่อย!
ความจริงแล้วคุณกินเพราะว่า(จิตใต้สำนึกสั่งให้)คุณกินมันเข้าไปเท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้นหรอก
ดูเหมือนว่ากลไกที่เราใช้ในการตัดสินใจเลือก กับกลไกที่เราใช้สรรหาเหตุผลมารองรับต่อการตัดสินใจเลือกนั้นจะเป็นคนละชุดกัน
การตัดสินใจเลือกดูเหมือนจะเป็นหน้าที่ของจิตใต้สำนึก (และได้โปรดอย่าลืมว่ามันทำงานอย่างไร้เหตุผล) ส่วนเหตุผลว่าทำไมเราจึงเลือกเป็นผลผลิตมาจากจิตรู้สำนึกซึ่งสร้างเหตุผลมากมายตามขึ้นมาภายหลัง เพื่อทำให้ตัวตนของเรารู้ดีกับสิ่งที่ได้ตัดสินใจเลือก
ดังนั้นเรื่องจิตใต้สำนึกจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ
เพื่อช่วยให้ชีวิตดำเนินไปสู่ความสุข ความสำเร็จ หรือความเจริญรุ่งเรือง จิตใต้สำนึกของคนๆ นั้นก็ควรมีรูปแบบการทำงานที่สร้างสรรค์ ได้มากเท่าๆกับการที่จิตรู้สำนึกควรจะมีความฉลาด
บางทีเราอาจจะกล่าวได้ว่ายิ่งรูปแบบของจิตใต้สำนึกทำงานได้สร้างสรรค์มากเท่าไหร่ชีวิตของคนๆ นั้นก็ยิ่งได้เปรียบ
มันคงเป็นการดีกว่าหากจิตใต้สำนึกมันจะเลือกสิ่งที่ควรเลือกจริงๆ มากกว่าที่จะไปเลือกอะไรก็ไม่รู้มา แล้วปล่อยให้เป็นภาระของจิตรู้สำนึกที่จะต้องค้นหาเหตุผลว่าทำไมเราถึงเผลอไปเลือกของแบบนั้นมาได้นะ
ทำไมคุณจึงเลือกซื้อแชมพูขวดนั้นมากกว่าที่จะเป็นแชมพูขวดอื่นที่วางอยู่ใกล้ๆกันในซุปเปอร์มาร์เก็ต?
ทำไมคุณจึงเลือกที่จะจีบผู้หญิงคนนั้นมาเป็นภรรยาของคุณ?
ทำไมคุณจึงเลือกที่จะยอมรับผู้ชายคนนั้นมาเป็นสามี?
หรือทำไมคุณจึงเลือกที่จะทำงานที่คุณกำลังทำอยู่ในทุกวันนี้?
... ทำไม?
มันมีเหตุผลของมันอย่างนั้นจริงๆ หรือแท้จริงมันเป็นผลลัพธ์อันลึกลับบางอย่าง (คือจิตสำนึกก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม) ภายในจิตใต้สำนึกของคุณ?