เจอบ่อยกว่าย่อมได้เปรียบ

   


“จิตใต้สำนึก” สำหรับวิชาจิตวิทยา (รวมไปถึงพฤติกรรมศาสตร์) สมัยใหม่หมายถึงผลลัพธ์จากการทำงานของสมองและระบบประสาทใดๆ ก็ตามที่อยู่นอกเหนือจากการรู้คิด (รู้สำนึก) ในเชิงตัวตนหรือเหตุผล
 
บางทีก็เลยสรุปกันออกมาง่ายๆ ว่าอะไรก็ตามที่สมองทำไปโดยไร้เหตุผล นั่นคือผลลัพธ์ที่ได้จากจิตใต้สำนึกทั้งสิ้น
 
และความไร้เหตุผลที่ว่านี้ หากใครรู้เท่าทันมันก็จะทำให้ได้เปรียบคนอื่นอยู่พอสมควรเลยทีเดียว
 
เคยมีการทดลองประหลาดๆ อย่างหนึ่ง เขาให้ผู้เข้าร่วมการทดลองนับร้อยคนทดลองอ่านข้อความบนเอกสารซึ่งมีความยาวจำนวนหนึ่ง ในข้อความนี้จะมีคำบางคำที่ไม่มีความหมาย (เป็นคำที่ทีมงานได้โมเมขึ้นมาเองโดยอ้างว่าเป็นภาษาตุรกีซึ่งผู้สร้างการทดลองก็ค่อนข้างมั่นใจว่าคงไม่มีผู้ร่วมการทดลองคนไหนที่รู้ภาษาตุรกีหรอกน่า)
 
หลังจากอ่านข้อความทั้งหมดจบสิ้นแล้ว เขาก็ให้ผู้ร่วมทดลองให้คะแนนว่าคำไหน (หมายถึงคำภาษาตุรกีปลอมๆ นั่นแหละ) ที่น่าจะเป็นคำที่มีความหมายในทาง “ดี” มากที่สุดและคำไหนน่าจะเป็นคำที่มีความหมายในทาง “ร้าย" มากที่สุด
 
ผลการทดลองนี้สามารถสรุปออกมาได้ใจความสำคัญว่า คำใดก็ตามที่โผล่ขึ้นมาในเอกสารมากที่สุด คำนั้นแหละที่ผู้เข้าร่วมการทดลองให้คะแนนว่าเป็นคำที่ (น่าจะ) มีความหมายดีที่สุด ส่วนคำใดที่โผล่ขึ้นมาในเอกสารน้อย คำนั้นก็จะถูกให้คะแนนว่าเป็นคำที่ (น่าจะ) มีความหมายไปในทางร้าย
 
ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?
 
ตอบตรงๆ ว่าไม่มีใครรู้เหตุผลหรอก 
 
เรื่องทั้งหมดนี้เกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุผลอะไรทั้งนั้น ทั้งหมดเป็นเพียงแรงผลจากแรงผลักดันที่เกิดขึ้นจากจิตใต้สำนึกของตัวผู้เข้าร่วมการทดลองทั้ง 
 
แน่นอนที่สุดว่าคำทั้งหมดที่ถูกนำมาทดลองเป็นคำที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ที่ไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้น ตัวแปรที่ทำให้แต่ละถ้อยคำเกิดความแตกต่างมีเพียงปริมาณที่ถูกแสดงขึ้นมาเท่านั้น 
 
ดูเหมือนว่าระบบประสาทของเราจะได้รับอิทธิพลโดยตรงจาก “จำนวนครั้ง” ของสิ่งที่มันได้พบ และจิตใต้สำนึกก็ได้สร้างผลลัพธ์ขึ้นมาตอบสนองในรูปของความพึงพอใจที่มากขึ้นเป็นพิเศษ
 
อย่างที่ได้กล่าวไปตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่าจิตใต้สำนึกเป็นเรื่องของความไร้เหตุผล แต่ผลลัพธ์ที่จิตใต้สำนึกแสดงออกมาย่อมส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเราอย่างจริงแท้แน่นอนที่สุดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อม
 
จากการทดลองที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ มันก็เลยถูกนำไปต่อยอดอีกว่า 
 
อะไรก็ตามที่สมองของเราได้พบเจอบ่อยๆ ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม มันมีแนวโน้มสูงทีเดียวที่สมองจะตอบสนองต่อสิ่งนั้นด้วยความพึงพอใจมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับสิ่งอื่น
 
มันเป็นเหตุผลว่าทำไมการโฆษณาชวนเชื่อจึงต้องมาบ่อยๆ มาถี่ๆ และแน่นอนว่าหากคุณต้องการจะจีบใครสักคน การพยายามนำตัวเองไปให้เขาได้พบหน้าบ่อยๆ มันย่อมมีผลโดยตรงต่อจิตใต้สำนึกของคนที่คุณชอบอยู่แน่นอน
 
สำนวนไทยสมัยก่อนบอกว่า “น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน” 
 
นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำอุปมาของคนสมัยก่อนเสียแล้ว หากแต่เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการทดลองทางจิตวิทยาและพฤติกรรมศาสตร์กันเลยทีเดียว
 
ขอให้มั่นใจในพลังของจิตใต้สำนึกที่ว่า “เจอบ่อยกว่าย่อมได้เปรียบ”
 
:)
 
หมายเหตุ - ในกระบวนการสะกดจิตบำบัดก็เช่นเดียวกัน มันคือเหตุผลว่าทำไมกระบวนการสะกดจิตบำบัดไม่ใช่เรื่องที่จะทำแบบครั้งเดียวจบ แต่ควรทำอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาหนึ่ง นั่นก็เพราะว่าสมองของเราจะรู้สึกเป็นมิตรและยอมรับกับสิ่งที่มันจะต้องพบเจอบ่อยๆ นั่นเอง ในแง่นี้การสะกดจิตจึงคล้ายกับการจีบคนที่คุณชอบนั่นแหละ “เจอบ่อยกว่าย่อมได้เปรียบ” 
 
:)