สิ่งที่เห็นและแผนที่

   


NLP เปรียบความเข้าใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ของผู้คนเป็นเหมือนกับการมองแผนที่ที่ตัวเองวาดขึ้นเพื่ออธิบายถึงเหตุการณ์นั้น แทนที่จะรับรู้ต่อเหตุการณ์นั้นโดยตรง
 
เช่นถ้าเรามองชายคนหนึ่ง ความจริงสมองของเรากำลังมองไปที่แผนที่ฉบับหนึ่งที่มันเขียนขึ้นมาเพื่ออธิบายว่าผู้ชายคนนั้นคือใคร มากกว่าที่จะรับรู้โดยตรงว่านั่นคือผู้ชายคนหนึ่ง
 
แต่เนื่องจากสมองแต่ละก้อนต่างมีสไตล์การเขียนแผนที่ขึ้นมาอธิบายสิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกัน (มันขึ้นอยู่กับว่าสมองก้อนนั้นผ่านอะไรมาบ้าง) มันก็เลยทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนบางอย่างขึ้นมา
 
ลองนึกถึงคน 10 คนวาดภาพช้างตัวเดียวกันซิ คุณคิดว่า 10 ภาพที่ได้จะมีรายละเอียดที่เหมือนกันหมดอย่างนั่นหรือ? (ขนาดกล้องถ่ายรูปคนละยี่ห้อยังอาจจะให้สีภาพออกมาแตกต่างกันเลยนะ)
 
มันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนจำนวนมองรับรู้รายละเอียดของเหตุการณ์เดียวกันด้วยการตอบสนองที่แตกต่างกันออกไป
 
รูปภาพเดียวกันบางบอกคนดูไม่ได้ แต่บางคนก็ว่างามนัก
 
คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วสมองของเรามันจะเขียนแผนที่ขึ้นมาทำไมให้มันยุ่งยาก? ทำไมเราจึงไม่รับรู้เหตุการณ์ต่างๆ โดยตรงเสียเลยล่ะ?
 
คำตอบก็คือ "รายละเอียดมันเยอะเกินไป" เยอะเสียจนระบบประสาทของเรารับมันไม่ไหว
 
ไม่เชื่อใหนใครลองตอบหน่อยซิว่าโลโก้ของ Google เรียงสีกันอย่างไรบ้าง? (ตอบเดี๋ยวนี้เลย ห้ามแอบดูนะ -_- )
 
เชื่อเถอะว่ามีน้อยคนมากที่จำมันได้ ส่วนคนที่จำมันได้ก็น้อยคนจริงๆ ที่สามารถตอบได้ในทันที ส่วนมากก็นั่งนึกภาพอยู่ซักพักจึงจะสามารถตอบคำถามนี้ได้ถูกต้อง
 
นี่ขนาดว่าเราเห็น Google อยู่แทบทุกวันแท้ๆ แถมมันก็มีรายละเอียดเพียงนิดเดียวแค่นี้ สมองของเรายังขี้เกียจจะสนใจจำเลย แล้วจะไปเอาอะไรกับเหตุการณ์ที่มีรายละเอียดมากกว่านี้มากกว่านี้
 
ความจริงแล้วสมองของเราเป็นนักประหยัดพลังงาน พูดแรงๆ ก็คือสมองของเรามันถูกสร้างมาให้มีความขี้เกียจอยู่ในตัวเองพอสมควร ดังนั้นอะไรที่มันดูแล้วเหมือนว่าจะไม่มีอะไรสำคัญ พอจะตัดได้เลี่ยงได้มันก็จะทำอย่างนั้น สมองจะพยายามรับข้อมูลให้ได้น้อยที่สุดเท่าที่มันจะจำเป็น
 
เพราะข้อมูลยิ่งน้อยก็ยิ่งตอบสนองได้เร็ว ไม่ต้องไปเสียเวลาประมวลส่วนที่ไม่จำเป็นมากนัก และที่สำคัญคือข้อมูลยิ่งน้อยก็ยิ่งประหยัดพลังงานกว่าด้วย
 
นี่คือกลไกสำคัญที่เรามีความจำเป็นที่ต้องทำความเข้าใจ ซึ่งจะนำเราไปสู่เรื่องที่ว่า "ทำไมความคิดอ่านของคนเรามันจึงแตกต่างกัน"
 
แล้วความเข้าใจว่าคนเราย่อมแตกต่างกันนี้เอง ที่จะนำพาพวกเราไปสู่การอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและมีความสุข