สมองโบราณ

   


หลายคนชอบบ่นกับตัวเองว่า “โอ้ทำไมหนอ ...ชีวิตของฉันทำไมมันถึงมีแต่ความทุกข์!”
 
ความจริงแล้วชีวิตของคนหนึ่งคน มันย่อมต้องคละเคล้าไปด้วยความสุขและความทุกข์ทั้งสองอย่างนั่นแหละ แต่จะด้วยอัตราส่วนอย่างไรก็คงแล้วแต่เส้นทางชีวิตของแต่ละคน
 
แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่สำคัญประการหนึ่งก็คื
 
“สมองของคนเราถูกธรรมชาติออกแบบเอาไว้ให้ว่องไวต่อความทุกข์มากกว่าความสุข”
 
ลองนึกย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 4 แสนปีก่อน ในยุคสมัยที่มนุษย์ยังไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีอะไรทั้งนั้น
 
เป็นยุคสมัยมนุษย์ยังคงเป็นสิ่งมีชีวิตในผืนป่าที่ไม่แตกต่างไปจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น
 
เพื่อความสามารถในการอยู่รอด ธรรมชาติจึงจำเป็นที่จะต้องออกแบบให้สมองของเราสามารถตอบสนองต่อความทุกข์ได้อย่างว่องไว ส่วนความสุขนั้นช่างหัวมันไปก่อน
 
สมมุติว่าอาก๋งของพวกเราในยุคดึกดำบรรพ์ (ซึ่งยังคงใช้ชีวิตไม่ต่างจากลิงในป่าไปสักเท่าไหร่ในตอนนั้น) เดินออกไปหาอาหารที่ริมบึงแห่งหนึ่ง
 
ทันใดนั้นก็มีจระเข้ตัวโตโผล่ขึ้นมาหวังจะงาบอาก๋งไปเป็นอาหารเช้า หากโชคดียังพอมีอยู่บ้างอาก๋งของพวกเราก็อาจจะรอดจากการเป็นอาหารเช้าของจระเข้ตัวนั้นมาได้
 
ชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์นั้นไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าความเป็นหรือความตาย
 
ถามว่าอะไรคือความสุขก็ตอบว่าคือการอยู่รอด ถ้าถามว่าอะไรคือความทุกข์ก็ต้องตอบว่าความเจ็บป่วยหรือความตายนั่นแหละ
 
ชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์ก็แค่ต้องหาอาหาร สืบพันธุ์ และอยู่รอดต่อไปให้ได้อีกหนึ่งวันก็เพียงเท่านั้น ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องหมุนเงินในบัตรเครดิต หรือไม่ต้องทุรนทุรายใจหากปีนี้ไม่ได้ไปเที่ยวต่างประเทศเหมือนบ้านข้างๆ
 
สรุปว่าถ้ายังรอดได้ก็มีความสุข ถ้าจะเป็นทุกข์ก็เพราะยังไม่อยากตาย ง่ายๆ แค่นั้น
 
เมื่อเป็นดังนี้แล้วสมองจึงจำเป็นที่จะต้องสร้างกลไกในการตอบสนองต่อความทุกข์ให้มีความชัดเจนเข้มข้นมากกว่าความรู้สึกอื่นๆ
 
"ที่บึงนั้นอันตรายถ้าเผลอไปแถวนั้นอีกอาจตายได้" สมองมีความจำเป็นที่จะต้องย้ำตรงนี้เอาไว้ให้ชัดๆ เหมือนนักศึกษาเอาปากกาเน้นคำที่เป็นสีแปร๋นๆ ขีดทับเอาไว้ในหน้าหนังสือตรงข้อความสำคัญที่เผื่อว่าจะออกข้อสอบ เพราะถ้าเกิดพลาดเผลอหลงลืมไปเดินเล่นอยู่แถวนั้นอีกก็อาจจะถึงคราวสิ้นชีพกลายเป็นอาหารจระเข้ได้ง่ายๆ
 
เพราะเหตุนี้ความทุกข์จึงจำเป็นที่จะต้องเด่นชัดในสมอง
 
ชัดมากที่สุดเท่าที่สมองจะทำได้
 
ในทางตรงกันข้ามสำหรับความสุขแล้วสมองไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับมันมากมายขนาดนั้น
 
ตัวอย่างเช่นวันนี้หากอาก๋งเดินไปเจอกล้วยเครือใหญ่ตรงชายป่าทางด้านทิศตะวันออก (แน่นอนว่าสำหรับชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์แค่นี้ก็คงมีความสุขแล้ว) มันก็ไม่แน่ว่าหากวันหลังกลับไปที่นี่อีกครั้งแล้วจะเจอกล้วยเครือใหญ่เหมือนกับวันนี้อีกหรือเปล่า
 
เพราะฉะนั้นความสุขจึงเป็นเรื่องที่เบาบาง ไม่จำเป็นที่จะต้องไปสนใจกับมันมากนัก มิหนำซ้ำถ้าไปสนใจมันมากๆ ก็มีแต่จะผิดหวังเสียเปล่าๆ
 
กลไกอย่างนี้มีประโยชน์มากสำหรับชีวิตในยุคดึกดำบรรพ์ก็จริง แต่สำหรับชีวิตของมนุษย์ในยุคนี้กลไกที่ว่านี้ก็คงจะถือว่าล้าสมัยไปมากแล้ว
 
ทุกวันนี้ชีวิตของพวกเราไม่ต้องวิ่งหนีจระเข้ที่ริมบึง หรือถ้าอยากจะกินกล้วยก็เพียงแต่เดินไปที่ร้านสะดวกซื้อตรงปากซอย ไม่ว่าจะไปวันไหนก็ยังคงมีกล้วยให้เรากินได้ตลอดทั้งปี (ถ้าไม่มีก็ซื้ออย่างอื่นมาแทนซิ!!!)
 
แถมความสุขในชีวิตของเรามันก็ไปไกลเกินจากแค่เรื่องกล้วยๆ ไปมากโขแล้ว
 
แต่ข่าวร้ายก็คือระยะเวลาเพียง 4 แสนปีนั้น สมองของเรามันวิวัฒนาการตนเองตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมไม่ทัน
 
ดังนั้นมันก็เลยกลายเป็นว่าเราก็ยังคงใช้กลไกชนิดเดียวกันกับเมื่อ 4 แสนปีที่แล้วกับชีวิตในแบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้โดยที่เราไม่รู้ตัว โดยแฉพาะกลในจิตส่วนลึกเช่นสัญชาติญานหรือจิตใต้สำนึก (เกี่ยวข้องกับระบบความจำ อารมณ์และความรู้สึกโดยตรง)
 
ที่เขียนมาตั้งยืดยาวเสียขนาดนี้ความจริงเพียงแต่อยากจะบอกให้กับทุกท่านได้ทราบว่า
 
ก็ไม่ใช่ว่าชีวิตของเรามันจะมีความทุกข์หนักหนาสาหัสอะไรหรอก บางทีแล้วความรู้สึกที่ว่าโอ้ชีวิตฉันช่างมีความสุขเสียเหลือเกินนั้น มันก็เป็นเพียงแค่ผลที่เราได้รับมาจากกลไกโบร่ำโบราณที่ทำงานตกค้างอยู่ในสมองของเราเท่านั้นเอง
 
ไม่ใช่ว่าความสุขมันไม่มี แต่สมองของเรากำลังเลือกที่จะมองเห็นแต่ความทุกข์อยู่หรือเปล่า?
 
ถ้าเราเข้าใจถึงกลไกธรรมชาติในข้อนี้ บางทีเราอาจจะก้าวข้ามความทุกข์ที่เคยรู้สึกว่ามี แล้วสามารถมองเห็นความสุขที่มี แต่ไม่เคยมองเห็นก็ได้
 
:)