ทฤษฎีศึกสามเส้า ของ Murray Bowen

   


“ที่ใดก็ตามที่มีคนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ย่อมมีการเมืองที่นั่น”

.
Triangles หรือ สามเส้า นั้นหมายถึง ระบบครอบครัวที่เชื่อมบุคคล 3 คนเข้าด้วยกัน โดยเน้นถึงความผูกพันทางอารมณ์ทั้งทางบวกและทางลบ
.
เมื่อสมาชิกในครอบครัว 2 คน (ต่อไปนี้จะเรียก A และ B) เกิดความบาดหมางทางใจกันขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แล้ว A พยายามดึงสมาชิกครอบครัวคนที่ 3 (ต่อไปนี้จะเรียก C) ไปเป็นพวก (ซึ่งอาจเกิดจากสภาวะ Fusion) เพื่อให้สถานะและความรู้สึกของตนเองนั้นมั่นคงมากขึ้น เมื่อนั้นสามเส้าก็จะเกิดขึ้น
.
ยิ่ง C เกิดการถูกครอบงำทางความคิดมีมากเท่าไหร่ สามเศร้าก็ยิ่งทวีความรุนแรงทางอารมณ์ให้กับครอบครัวมากขึ้นเท่านั้น แต่ในทางกลับกันหาก C มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่คล้อยตามคนอื่นได้ง่าย ๆ ความคิดตั้งอยู่บนเหตุและผล และสภาพความเป็นจริง C ก็จะสามารถดึงตัวเองออกจากสามเศร้าได้ดีขึ้นเช่นกัน
.
ทั้งนี้เมื่อ B เห็นว่า A และ C เป็นพวกเดียวกัน มีคนคอยสนับสนุนความคิดและอารมณ์ซึ่งกันและกัน หาก B ไม่มีพวก B ก็จะเกิดความรู้สึกอึดอัดและไม่สบายใจมากขึ้น หากสมาชิกในครอบครัวมีมากกว่า 3 คน แล้ว B สามารถดึงสมาชิกคนที่ 4 (ต่อไปนี้จะเรียก D) เข้ามาเป็นพวกด้วยได้ B ก็จะรู้สึกมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น 
.
แต่การกระทำเช่นนี้ยิ่งเป็นตัวที่ทำให้ปัญหาและอารมณ์ที่สับสนขุ่นมัวของครอบครัวนี้ยิ่งซับซ้อนและยากที่จะแก้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากครอบครัวนี้จะเริ่มมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาก็คือ C และ D อาจจะเกิดไม่ลงรอยกันตามมาได้
.
กระนั้นแล้วสามเศร้าก็ไม่ได้นำพามาซึ่งอารมณ์ที่ไม่มั่นคงของครอบครัวเสมอไป สามเศร้านั้นสามารถก่อให้เกิดผลที่ตามมาได้ 4 ทาง อันได้แก่
.
1. A และ B ที่รู้สึกดีต่อกันกลับรู้สึกไม่มีความสุขเมื่อมี C เข้ามาในครอบครัว เช่น สามี-ภรรยาที่รักกันดี แต่พอมีลูกกับเกิดความขัดแย้งกันเนื่องจากวิธีการเลี้ยงลูกไม่เหมือนกัน
.
2. A และ B ที่รู้สึกดีต่อกันกลับรู้สึกไม่มีความสุขเมื่อ C ออกไปจากชีวิตครอบครัว เช่น เมื่อลูกต้องย้ายออกจากบ้านไป ไม่มีตัวห้ามทัพยามที่พ่อและแม่ขัดใจกัน ทำให้การทะเลาะเบาะแว้งหนักขึ้น
.
3. A และ B ที่ไม่มีความสุขกลับเริ่มรู้สึกดีต่อกันเมื่อมี C เข้ามาในชีวิตครอบครัว เช่น สามี-ภรรยาที่ขัดแย้งกันมาตลอด แต่เมื่อมีลูกอ่อนก็ช่วยเหลือ เลี้ยงดูลูกกันดี ทำให้เห็นน้ำใจและความรักของอีกฝ่ายมากขึ้น
.
4. A และ B ที่ไม่มีความสุขกลับเริ่มรู้สึกดีต่อกันเมื่อ C ออกไปจากชีวิตครอบครัว เช่น ภรรยาที่มีปัญหากับแม่สามี เมื่อสามีตัดสินใจที่จะแยกครอบครัวออกมาอยู่กับภรรยา 2 คน ทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขและสงบมากขึ้น
.
และการที่บุคคลที่ 3 จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสามเศร้านี้แบ่งออกเป็น 3 ประเภทได้แก่
.
1.  สมยอมเข้าพวก (To Triangle) คือ สภาวะที่เมื่อ A และ B ขัดแย้งกัน แล้ว C เข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งด้วยความเต็มใจ
.
2.  หาพันธมิตร (To Be Triangle) คือ สภาวะที่เมื่อ A และ B ขัดแย้งกัน แล้ว A หรือ B ดึง C เข้าไปเป็นพวกตัวเอง
.
3.   เป็นกลาง (To De-triangle) คือ สภาวะที่เมื่อ A และ B ขัดแย้งกัน แล้ว C ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พยายามทำตัวเป็นกลาง แล้วพิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น สภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อ C มีความเป็นตัวของตัวเอง