ดัมเมเชี่ยลตัวหนึ่ง

   


มีบางอย่างซ่อนอยู่ในภาพนี้ คุณเห็นมันหรือเปล่า?

หลายคน(หรือแทบจะทุกคน)เมื่อได้รับคำถามนี้ก็มักตอบกลับมาว่า

"ก็หมาดัมเมเชี่ยลตัวหนึ่งไง"

จากการทดลองเราพบว่าคนจำนวนมากเมื่อมองเจ้าภาพนี้แล้วก็มักจะตอบว่าเป็นภาพของสุนัขตัวหนึ่ง หรือถ้ามีความรู้เรื่องพันธุ์สุนัขซักหน่อยก็อาจจะระบุต่อไปได้อีกว่านี่คือภาพของสุนัขพันธุ์ดัมเมเชี่ยลตัวหนึ่ง (แต่ความเร็วในการพิจารนาและตอบคำถามก็อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ไหวพริบของแต่ละคน)

ทีนี้ผมอยากจะให้เรามองภาพนี้อีกครั้งหนึ่ง

ลองตั้งสติดีๆ แล้วพิจารนาถึงรายละเอียดของภาพนี้ให้ดี

เราจะพบว่าภาพนี้ความจริงมันไม่มีรูปสุนัขเลยซักตัว เพราะมันเป็นเพียงแค่ภาพที่ประกอบด้วยจุดสีดำจำนวนมากบนพื้นสีขาวเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

พอถึงตรงนี้หลายคนก็ยังคงยืนยันอยู่ว่านี่คือรูปสุนัขพันธุ์ดัมเมเชี่ยลตัวหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ขอให้ท่านจงดูให้ดีเถอะว่าความจริงแล้วรูปภาพนี้มันเป็นเพียงจุดดำบนพื้นขาวเท่านั้น ไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่านั้นอย่างแน่นอน

แล้วหมาดัมเมเชี่ยลมันมาจากไหน?

คำตอบก็คือมันมาจากกระบวนการ Generalization และ Distortion ในการสื่อสารภายในสมองของเรานั่น

หน้าที่สำคัญที่สุดของสมองก็คือการค้นหาคำตอบสำหรับทุกๆ สิ่ง

ดังนั้นทันทีที่ระบบประสาทรับรู้ภาพนี้เข้า สิ่งแรกที่มันจะทำก็คือการ "ค้นหาคำตอบ" ว่า "สิ่งนี้คืออะไร?"

เพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบสมองก็จะทำการค้นหาข้อมูลว่ามีประสบการณ์ใดบ้างที่ใกล้เคียงหรือเทียบเคียงกันได้กับสิ่งที่เรากำลังรับรู้อยู่นี้

แต่เนื่องจากสิ่งที่เรากำลังรับรู้อยู่นี้มันมีรายละเอียดที่ยังไม่มากเพียงพอ มันยังดูคลุมเครือมากเกินไปกว่าที่จะสามารถหาคำตอบอย่างแน่ชัดได้

ดังนั้นเพื่อให้มันง่ายเข้า สมองของเราจึงพยายามมองภาพนี้อย่างเป็นองค์รวม (Generalization) เพื่อลดทอนรายละเอียดส่วนที่ไม่จำเป็นลงจนสามารถนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นเพื่อหาคำตอบได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้สมองก็ยังแอบเล่นตุกติกด้วยการแต่งเติมหรือบิดเบือนรายละเอียด (Distortion) บางอย่างให้กับข้อมูลที่กำลังรับรู้อยู่นี้ (เหมือนสมองมันกำลังเล่นเกมเติมคำในช่องว่างอยู่)

ดังนั้นแทนที่สมองของเราจะรับรู้แค่ว่านี่เป็นแค่ภาพจุดสีดำจำนวนมากบนพื้นสีขาว มันก็เลยกลายเป็นหมาดัมเมเชี่ยลในห้วงของการรับรู้ของเราไปในที่สุด

กระบวนการรับรู้ที่บิดเบี้ยวไม่ตรงไปตรงมาเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว มันเป็นกลไกทางธรรมชาติที่ทำงานอยู่ภายในระบบประสาทขของมนุษย์ทุกคนอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

การโกงกันเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ช่วยให้สมองของเราหาคำตอบได้เร็วขึ้น และที่สำคัญก็คือประหยัดพลังงานได้มากยิ่งขึ้น

นั่นคือประโยชน์สำคัญซึ่งสมองยอมแลกมาด้วยความบิดเบี้ยวไม่ตรงไปตรงมาของการรับรู้

เมื่อสมองรับรู้ว่าสิ่งนี้ว่าคือภาพของสุนัข ดังนั้นสมองก็จะสร้างเริ่มสร้างรูปแบบบางอย่างในการตอบสนองต่อสิ่งที่กำลังรับรู้นี้ ซึ่งแน่นอนว่าสมองของแต่ละคนย่อมมีรูปแบบ (โปรแกรม) ในการสร้างการตอบสนองที่แตกต่างกัน บางคนชอบ บางคนเกลียด บางคนกลัว บางคนเฉยๆ

แทนที่จะตอบสนองต่อภาพนี้ในฐานะของภาพที่ประกอบไปด้วยจุดจำนวนมาก

ดังนั้นสำหรับ NLP แล้ว ระบบประสาทของผู้คนจึงตอบสนองต่อสิ่งที่ "รับรู้" เท่านั้น มันไม่ได้ตอบสนองต่อ "เหตุการณ์" ที่กำลังเกิดขึ้นจริงแต่อย่างใด

คือเหตุการณ์จริงจะเป็นอย่างไรก็ช่าง แต่สมองน่ะ กำลัง "รับรู้" ต่อเหตุการณ์นั้นว่าอย่างไร มันก็จะตอบสนองกันไปอย่างนั้น

นี่ต่างหากที่เป็นจุดสำคัญ

ดังนั้นสำหรับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น บางทีเราอาจรู้สึกว่ามันแย่ แต่มันเป็นเรื่องแย่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นจริง หรือสมองของเราเพียงแต่ "รับรู้" และตีความหมายว่านั่นคือเรื่องแย่ๆ ?

สมองของเรากำลังซื่อตรงต่อเรามากขนาดไหน?