คาล โรเจอร์ พบ พระพุทธเจ้าเห็น (5555)

   


คาล โรเจอร์ ปรมาจารย์แห่งจิตวิทยาแนวมนุษย์นิยมกล่าวถึงความทุกข์ในใจมนุษย์ว่า เหตุของความทุกข์ในใจคนนั้นก็คือ 
 
“การที่มนุษย์ไม่สามารถยอมรับต่อสิ่งที่ตัวเองประสบอยู่ได้” 
 
ยกตัวอย่างเช่นถ้าใครซักคนหนึ่งไม่ชอบทานส้ม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม การที่บังคับให้คนๆ นั้นทานส้มย่อมเป็นเรื่องที่ทำให้เขาต้องทุกข์ใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าเขาย่อมไม่สามารถยอมรับต่อสิ่งที่จะเกิดหรือกำลังเกิดขึ้นตัวเขาได้ 
 
แต่ถ้าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม หากคนๆ นั้นเกิดเปลี่ยนกรอบความคิดความเคยชินเป็นสามารถยอมรับต่อการกินส้มของตัวเองที่กำลังจะเกิดหรือกำลังเกิดขึ้นอยู่ได้ ความทุกข์จากการกินส้มก็ย่อมบรรเทาเบาบางลงไปหรืออาจจะถึงขั้นเปลี่ยนเป็นมีความสุขจากกินส้มก็ได้ ใครจะไปรู้
 
คนเรานั้นย่อมมีความทุกข์ใจอยู่เป็นธรรมชาติ ถึงจะไม่ตลอดเวลาแต่ก็ต้องมีบ้างเป็นบางเวลา นั่นก็เพราะเราไม่สามารถที่ยอมรับต่อทุกๆ เรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นไปแล้วกับชีวิตของเราได้ทั้งหมด 
 
สัญชาติญาณตลอดจนประสบการณ์การเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตตลอดทั้งชีวิตหล่อหลอมสิ่งที่ที่เรียกว่า “ตัวตน” ขึ้นมา และเมื่อใดก็ตามที่ตัวตนกำลังถูกกระทบ ถูกขัดแย้ง หรือกำลังถูกทำให้สั่นคลอน ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องเกิดการดิ้นรนเพื่อรักษาตัวตนของตนเองเอาไว้ให้ได้ 
 
การไม่สามารถยอมรับต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ธรรมดาที่สุดที่ย่อมจะเกิดขึ้นในทุกคน
 
เมื่อเกิดปัญหาก็มนุษย์ก็ต้องแสวงหาวิธีแก้ปัญหา เมื่อเกิดความทุกข์มนุษย์ก็ย่อมแสวงหาการดับทุกข์ 
 
คาล โรเจอร์กล่าวว่าความทุกข์ในใจจะสามารถดับลงได้ทันทีหรืออย่างน้อยก็สามารถลดระดับความเข้มข้นลงได้ในทันทีหากเราสามารถยอมรับต่อสิ่งที่เกิดได้
 
แต่ในโลกของความเป็นจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น เพราะในความเป็นจริงเราย่อมไม่สามารถจะตัดใจยอมรับต่อสิ่งต่างๆ ได้ง่ายๆ ทุกเรื่องไปนะซิมันถึงได้เป็นทุกข์ ถ้ามันทำใจยอมกันได้ง่ายๆ เราก็ไม่ต้องมีความทุกข์กันแล้ว ในเมื่อเป็นอย่างนี้ก็จำเป็นต้องหาเครื่องมือมาดับทุกข์กันเสียหน่อย
 
เครื่องมือที่ว่านั้นมีอยู่ด้วยกันมากมายไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์ (ยอมรับในโชคชะตา) พรมลิขิต (ยอมรับในสิ่งที่พระเจ้ากำหนด) กรรมเก่า (ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำในชาตินี้แต่ทำเอาไว้ในชาติก่อนๆ) หรืออะไรอีกมากมาย 
 
ถึงแม้ว่าวิธีการเหล่านี้จะไม่ได้มุ่งชี้ให้ยอมรับถึงสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง แต่มุ่งไปที่การโยนภาระไปที่สิ่งอื่นๆ ที่จับต้องไม่ได้ (โชคชะตา ลิขิตพระเจ้า เวรกรรม ล้วนแล้วแต่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ทั้งสิ้น) แต่ก็ต้องถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดการยอมรับต่อปัญหาตัวเองกำลังเผชิญหน้าอยู่ทั้งสิ้น ซึ่งก็ให้ผลอยู่ได้ดีในระดับหนึ่ง
 
ส่วนศาสนาพุทธไปใกลกว่านั้นด้วยการใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “อริยสัจ4” คือกลไกที่ว่าด้วย ทุกข์(สิ่งที่เกิดขึ้นและยอมรับได้ยาก) สมุทัย(ต้นเหตุของทุกข์) นิโรท(ความดับทุกข์ หรือต้นเหตุเมื่อถูกดับไปแล้ว) และ มรรค(ผลที่ได้จากการดับทุข์) ซึ่งสามารถสรุปออกมาเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆ ได้ว่า
 
“มีปัญหาตรงไหน ก็ไปแก้ตรงนั้น”
 
ในที่นี้ปัญหามันเกิดก็เพราะว่ามันไม่สามารมยอมรับต่อสิ่งที่เกิดได้ ที่มันยอมรับไม่ได้เพราะติดที่สิ่งที่เรียกว่าอัตตาหรือความมีตัวตนของแต่ละบุคคล
 
อัตตาแบบไม่ยอมเสีย ไม่ยอมรับ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนี้ ในทางจิตวิทยาถือเป็นสภาพอารมณ์ซึ่งเป็นผลมาจากระบบการทำงานของสมองและระบบประสาทที่ตีความต่อสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในระบบรับรู้ข้อมูล (ผ่านทางระบบประสาทสัมผัสทั้ง5) โดยอ้างอิงจากข้อมูลหรือประสบการณ์ต่างๆ ที่สะสมค้างเก่าอยู่ในสองของเรา 
 
นั่นหมายความว่าความรู้สึกเชิงอัตตาแบบไม่ยอมเสียไม่ยอมรับไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนี้  ความจริงแล้ว“มันไม่มีอยู่จริง” เพราะเป็นเพียงสภาพอารมณ์ที่เราสร้างขึ้นมาเองเท่านั้น
 
นัก NLP เสนอให้แยกระหว่างสภาพอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดจากระบบการทำงานของสมองและระบบประสาทออกจากเหตุการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นว่ามันเป็นคนละส่วนกัน 
 
เปรียบเสมือนแผนที่และพื้นที่จริงๆ ที่ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกับสถานที่เดียวกัน มีรายละเอียดอย่างเดียวกัน แต่มันก็เป็นคนละเรื่องกัน 
 
เหตุการณ์นั้นย่อมดำเนินไปของมันตามเหตุและผลแต่การตอบสนองจากระบบประสาทของเรานั้นมันไม่มีอยู่จริง มันเป็นเพียงแค่สิ่งที่ระบบประสาทของเราสร้างขึ้นเท่านั้น
 
ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สอดคล้องต่อแนวทางของศาสนาพุทธมุ่งเน้นให้ ลด ละ เลิก การมีอัตตาหรือตัวกูของกูในมนุษย์ทั้งหลาย เพราะความจริงแล้วสิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงแต่ภาวะที่จิตของเราผูกเงื่อนผูกปมขึ้นมา 
 
เมื่ออัตตาหรือความเป็นตัวตนมันลดลง การยอมรับต่อสิ่งที่เกิดมันก็จะเป็นง่าย เมื่อเป็นแบบแล้วนั้นก็จะไม่มีความทุกข์หรืออย่างน้อยที่สุดความทุกข์ก็จะลดน้อยถอยลง
 
สรุปว่าสิ่งที่โรเจอร์กล่าวถึง ศาสนาพุทธพูดมาแล้วเมื่อ 2500 กว่าปีก่อน และก็ยังคงพูดกันถึงเรื่องเดิมกันต่อไป แม้ว่าสไตล์จะแตกต่างกันไปนิดหน่อยก็ตาม
 
ดังนั้นจึงเรียกสิ่งนี้ว่า "สัจจะ"