การสะกดจิตคือการเรียนรู้(ของจิตใต้สำนึก)

   


มีหลายท่านที่ยังไม่ยอมรับต่อกระบวนการสะกดจิต (Hypnosis) พวกเขายังคงคิดว่าการสะกดจิตเป็นเรื่องเหลวไหลหรือเชื่อถือไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่าหากการสะกดจิตเป็นการเรียนรู้ในขณะที่จิตอยู่ในห้วงภวังค์จริง ต่อไปเราก็คงไม่ต้องไปโรงเรียนแล้ว อยากรู้อยากเรียนอะไร (เช่นเลข เคมี ภาษาอังกฤษ บลาๆๆ) ก็ให้นักสะกดจิตใส่ข้อมูลพวกนั้นเข้าไปในจิตใต้สำนึกเสียเลยก็คงจะสิ้นเรื่อง

ความจริงสิ่งที่เขาเข้าใจกันก็ไม่ผิดหรอกนะครับ แต่มันก็ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน

ผมมักพูดอยู่เสมอว่า การสะกดจิต (Hypnosis) นั้นคือกระบวนการเรียนรู้ (Learning) แต่สำคัญกว่านั้นคือหัวใจของการสะกดจิตคือการสร้างการ “ยอมรับ” (Accept) ต่างหาก หากการเรียนรู้ไม่เกิดการยอมรับ กระบวนการสะกดจิตก็ถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ

โดยกระบวนการทั้งหมดที่ว่ามานี้เพ่งเล็งให้เกิดขึ้นในชั้นของจิตใต้สำนึกโดยเฉพาะ

 

จิตใต้สำนึกคืออะไร? อธิบายง่ายๆ ก็คือการทำงานของสมองในส่วนใดๆ ก็ตามที่อยู่พ้นไปจากการรู้สำนึกในเชิงเหตุผลหรือความเป็นตัวตนของเรา (บางทีก็จะเรียกว่าจิตไร้สำนึก เพราะมันเกิดขึ้นโดยไร้ความสำนึกในเชิงตัวตน) พฤติกรรมบางอย่างก็เกิดขึ้นในชั้นของการรู้สำนึก คือเจตนาที่จะทำสิ่งนั้น เช่นเจตนานั่งอ่านบทความนี้ บางอย่างก็เกิดในชั้นจิตใต้สำนึก คือไม่เจตนาจะทำสิ่งนั้นก็ได้ทำไปแล้ว เช่นไม่ได้เจตนาจะขมวดคิ้วเวลาไม่พอใจแต่ก็ทำสีหน้าอย่างนั้นออกมา หรือบางอย่างก็ก้ำกึ่งกัน คือจิตนาก็ได้หรือไม่เจตนาก็ได้ เช่นการลมหายใจที่สามารถกำหนดจังหวะเข้าออกได้หรือจะปล่อยให้มันหายใจเองไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปสนใจมันก็ได้

การเรียนรู้ก็เช่นกัน มันเป็นกระบวนการที่เกิดได้ทั้งในชั้นของการรู้สำนึกและใต้สำนึก

การเรียนรู้ในชั้นของจิตรู้สำนึกคือการเรียนรู้ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติปัญญา เช่นการเรียนเลข เรียนภาษาต่างประเทศ เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ หรือแม้แต่การอ่านแค๊ตตาล็อคสินค้าในหน้าโฆษนาแล้วคิดว่าจะซื้อดีหรือไม่ก็ถือเป็นการเรียนรู้ในเชิงการรู้สำนึก การเรียนรู้แบบนี้เรามักใช้กับสิ่งที่มีความสลับซับซ้อน มีเหตุมีผล โดยเฉพาะกับสิ่งที่เราไม่เคยรู้จักมันมาก่อน การเรียนรู้แบบนี้ถือว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมนุษย์ เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆ ก็อาจจะทำได้ แต่ก็ทำได้ไม่ดีเท่ากับมนุษย์เรา

ส่วนการเรียนรู้ในชั้นของจิตใต้สำนึกนั้นต่างออกไป เพราะมันเป็นการเรียนรู้โดยผ่านทางความเคยชิน ผ่านทางอารมณ์และความรู้สึกที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุผล โดยอาศัยกลไกของความทรงจำ (ประสบการณ์) เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน

นั่นนำไปสู่เงื่อไขที่สำคัญ 3 ประการที่สำคัญในการเรียนรู้ของจิตใต้สำนึก คือ

  1. จิตใต้สำนึกไม่สามารถเรียนรู้ต่อข้อมูลเหตุผลที่สลับซับซ้อนเป็นเหตุเป็นผลได้ เพราะมันไม่รู้เหตุผล เปรียบเทียบไม่เป็น
  2. โดยปรกติแล้วจิตใต้สำนึกจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ โดยผ่านทางกลไกของอารมณ์ และการรับรู้ซ้ำๆ เช่นคนเคยจมน้ำเกือบตายจิตใต้สำนึกก็เรียนรู้ที่จะกลัวน้ำ แต่เนื่องจากจิตใต้สำนึกไม่รู้เหตุผล ดังนั้นบ่อยครั้งเราจะพบว่าคนที่กลัวน้ำเขาอาจจะกลัวแม้กระทั่งน้ำตื้นๆ แค่เข่า (กลัวอย่างไม่มีเหตุผล) ลักษณะแบบนี้หากมีความรุนแรงจนควบคุมไม่ได้เราก็จะได้พบเห็นกับสิ่งที่เรียกว่า “โฟเบีย” (Phobia) หรือการกลัวที่ไร้การควบคุม เป็นต้น
  3. หากจะเรียนรู้ข้อมูลที่สลับซับซ้อน มันจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผ่านการเรียนรู้ในชั้นจิตรู้สำนึกเสียก่อน จากนั้นจิตใต้สำนึกจึงค่อยเรียนรู้ข้อมูลเหล่านั้นโดยผ่านจากจิตรู้สำนึกอีกที ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอาศัย “การเรียนรู้ซ้ำ” (Re-Learning) เป็นตัวขับเคลื่อน แต่อย่างไรก็ตามจิตใต้สำนึกก็จะยังไม่รู้เหตุผลอยู่ดี (เหมือนคนซื้อกระเป๋าใบล่ะแสน โดยยอมรับว่ามันดี แต่ไม่รู้ว่าดีกว่ากระเป๋ษใบล่ะพันเดียวอย่างไร)

ขอย้ำอีกครั้งว่าการสะกดจิตนั้นเพ่งเล็งให้เกิดการเรียนรู้และยอมรับในระดับจิตใต้สำนึกเป็นหลัก

จากหลักการที่สำคัญ 3 ข้อที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ มันได้นำไปสู่อธิบายเกี่ยวเรื่องของการสะกดจิตว่า

  1. การสะกดจิตย่อมไม่สามารถบรรจุวิชาเลข เคมี ภาษาอังกฤษ หรืออะไรก็ตามที่มีความสลับซัซ้อนเข้าไปในสมองของเราได้ เพราะทั้งหมดตรงนั้นเป็นหน้าที่ของจิตรู้สำนึกที่จะต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านั้น ดังนั้นถ้าอยากเก่งเลขก็ต้องไปเรียนเลข ฝึกคิดเลข ไม่ใช่มาสะกดจิตเอาวิชาเลขใส่เข้าไปในจิตใต้สำนึก เพราะใส่เข้าไปมันก็ไม่เข้าใจ
  2. หากเราดันทุรังเอาข้อมูลซับซ้อนเช่นวิชาเลข เคมี หรือภาษาอังกฤษใส่เข้าไปในจิตใต้สำนึกโดยอาศัยกระบวนการสะกดจิต สิ่งที่เราจะได้รับจากการทำแบบนี้คือ “ความเคยชิน” เช่นถ้าเราสูตรเคมียากๆ ใส่เข้าไปในจิตใต้สำนึก เราก็อาจจะรู้สึกคุ้นเคยกับสูตรเหล่านี้ ทำให้ไม่รู้สึกว่าสูตรเคมีเป็นเรื่องที่ยาก ซับซ้อน หรือน่ากลัวเหมือนคนอื่นๆ (เหมือนเด็กที่เกิดมาในบ้านที่มีพ่อแม่เป็นนักเคมี ลูกก็ย่อมคุ้นเคยกับสูตรเคมีหรือคำศัพท์ทางเคมีเหล่านี้มาตั้งแต่เด็ก) ตรงนี้อาจจะขยายผลไปได้ว่าหากเขาได้ไปเรียนวิชาเคมีจริงๆ ก็อาจจะรู้สึกว่ามันง่ายหรือสะดวกใจมากกว่าคนอื่น ทำให้การเรียนก้าวหน้ามากกว่าคนอื่น แต่จะให้ท่องสูตรเคมีออกมาเป็นฉากๆ จากจิตใต้สำนึกเลยโดยไม่ต้องเรียนนั้นมันเป็นไม่ได้ เพราะจิตใต้สำนึกทำอะไรยากๆ แบบนั้นไม่ได้
  3. ในกระบวนการสะกดจิต จึงมักออกคำสั่งหรือให้การเรียนรู้ในสิ่งที่ผู้ถูกสะกดจิตรู้มาก่อนอยู่แล้ว คือเป็นเรียนรู้ผ่านทางการรู้สำนึกมาก่อน แล้วจึงค่อยใช้ใช้กระบวนการสะกดจิตสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในชั้นของจิตใต้สำนึกอีกที (คนที่เคยเรียนการสะกดจิตจากผมมาแล้วคงจำได้ว่าผมย้ำเสมอว่า Pre-Talk หรือ Pre-Hypnosis นั้นสำคัญมาก ดีไม่ดีจะสำคัญกว่าตอนสะกดจิตจริงๆ เสียอีก) เช่นผู้ถูกสะกดจิตรู้ก่อนอยู่แล้วว่าตนเองต้องการเลิกบุหรี่ รู้โทษต่างๆ นาๆ ของบุหรี่ แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้เพราะจิตใต้สำนึกยังไม่ยอมรับต่อข้อมูลเหล่านั้นในชั้นของการรู้สำนึก ดังนั้นจึงอาศัยการสะกดจิตสร้างการยอมรับต่อข้อมูลเหล่านั้นในชั้นของจิตใต้สำนึกอีกทีเพื่อให้เกิดพฤติกรรมหยุดสูบบุหรี่ขึ้นมา นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม “ความต้องการผลลัพธ์” ของตัวผู้ถกสะกดจิตเอง จึงเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญที่สุดของการสะกดจิต ถ้าการรู้สำนึกของผู้ถูกสะกดจิตยังไม่นึกว่าเขาต้องการอะไร (มีข้อมูลเบื้องต้นมาก่อน) การสะกดจิตนั้นก็ย่อมไม่ได้ผล

เรื่องการเรียนรู้ของการสะกดจิตก็มีรายละเอียดเช่นนี้ครับ heart

Ref : Hypnosis / Hypnotherapy /  Conscious / Sub-Conscious (Unconscious)