การสรุปข้อมูล (ตอนที่1)

   


ระบบประสาทภายในร่างกายของเราถูกธรรมชาติออกแบบมาให้มีความสามารถในการรับรู้และสื่อสารอย่างยอดเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย เราสามารถรับรู้ได้ทั้งภาพ เสียง กลิ่น รสชาติ และความรู้สึกสัมผัส สามารถรับรู้ได้ทั้งจากภายนอกและภายในตัวของเราเอง
 
แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากรายละเอียดของเหตุการณ์และสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้มีรายละเอียดของมันอยู่เป็นจำนวนมาก 
 
และมันก็มันมากเกินกว่าที่ระบบประสาทสัมผัสของเราจะสามารถรับรู้รายละเอียดเหล่านั้นได้ครบถ้วนทั้งหมด เพียงแค่เรามองไปดอกไม้เพียงแค่หนึ่งดอกเราอาจจะต้องพบรายละเอียดต่างๆ เป็นจำนวนมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของกลีบดอกแต่ละกลีบ รายละเอียดของกลีบเลี้ยง ใหนจะรายละเอียดกิ่งและใบของมันแต่ละใบอีก 
 
ดังนั้นเมื่อระบบประสาทสัมผัสของเราได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ เข้ามาแล้วมันจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องย่นย่อการรับรู้ข้อมูลเหล่านั้นเสียก่อนเพื่อที่สมองของเราจะไม่ต้องทำงานหนักมากจนเกินไปนัก
 
เพียงแค่สรุปออกมาว่านั่นคือ “ดอกไม้” ทุกอย่างก็เป็นว่าเรียบร้อย
 
ลองนึกถึงว่าถ้าเราเป็นผู้บิรหารสูงสุดของบริษัทที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง บริษัทมีแผนกต่างๆ มากมายนับร้อยแผนก ส่วนพนักงานก็มีนับพันนับหมื่นคน 
 
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าถ้าทุกคนทุกแผนกต่างก็พร้อมใจกันส่งตรงเอกสารหรือการตัดสินทั้งหมดเท่าทีมีมาให้เราเป็นผู้ตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว วิธีการแบบนี้ทำให้เราควบคุมบริษัทได้อย่างเต็มที่ทุกรายละเอียดก็จริง แต่ผมคิดว่าในโลกของความจริงบริษัทนี้คงไม่สามารถดำเนินกิจการอยู่รอดได้แน่ๆ เพราะการตัดสินใจและสั่งงานต่างๆ คงรุ่มร่ามล่าช้าไม่ทันการเป็นอย่างมาก ดีไม่ดีตัวเราเองในฐานะผู้บริหารผู้ตัดสินใจในทุกๆ เรื่องอาจจะทำงานหนักเสียจนมีอันต้องหามส่งโรงพยาบาลไปเสียก่อนก็เป็นได้ 
 
ดังนั้นเพื่อให้อะไรมันง่ายเข้าเราจึงจำเป็นที่จะต้องมีผู้จัดการแต่ละแผนกคอยจัดการเรื่องจิปาถะให้ แล้วทำเป็นรายงานสรุปมาให้ตัดสินใจแต่เรื่องสำคัญเชิงนโยบายก็พอ 
 
การทำแบบนี้มันอาจจะทำให้เราตกหล่นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ไปบ้าง ประเภทแม่บ้านลาป่วยหรือพนักงานสต๊อกเบิกเชือกฟางไปสองม้วน แต่การขับเคลื่อนโดยรวมมันย่อมให้ผลที่ดีกว่าอย่างแน่นอน 
 
สำหรับสมองและระบบประสาทของเราเมื่อรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ มันก็จะทำอย่างนี้เช่นกัน
 
NLP ค้นพบว่าเมื่อระบบประสาทของเราได้รับรู้ต่อประสบการณ์ใดๆ ก็ตามกระบวนการ "สรุป" ประสบการณ์ที่กำลังรับรู้ก็จะต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่มีกระบวนการนี้สมองของเราก็อาจจะต้องทำงานหนักมากเกินไป 
 
และเพื่อให้กระบวนการสรุปนี้ดำเนินไปได้ระบบประสาทของเราจำเป็นเครื่องมือบางอย่างสำหรับทำหน้าที่นี้ โดยเครื่องทั้งสามจะประกอบไปด้วย
 
  • “การตัดทิ้ง” (Deleted) 
  • “การเหมารวม” (Generalize) 
  • “การทำให้ผิดเพี้ยน” (Distorted)

Ref. NLP (Neuro Linguistic Programming)