กรอบของประสบการณ์

   


การใช้ภาษาพูดสื่อสารระหว่างกันเป็นลักษณะเด่นพิเศษเฉพาะอันหนึ่งที่มีอยู่ในมนุษย์ โดยการกลไกการใช้ภาษาพูดสื่อสารกันนี้ถูกธรรมชาติฝังอยู่ในสมองและระบบประสาทของมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ เราอาจจะสามารถค้นพบชนเผ่าใดหรือสังคมใดก็ตามบนโลกนี้ที่ไม่รู้จักการว่ายน้ำ ไม่รู้จักการทำการเกษตร หรือไม่รู้จักจารีตวัตธรรมอื่นๆ ได้อีกมากมาย แต่มนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ทั่วโลกเหมือนกันหมดในเรื่องของการมีภาษาพูดเอาไว้สื่อสารกัน
 
โดยพื้นฐานแล้วคำพูดหรือภาษาพูดเป็นเครื่องมือที่เราใช้ในการถ่ายทอดสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของเราออกมา เช่นเมื่อระบบประสาทของเราสร้างความรู้สึกที่ว่า “พอใจ” ขึ้นมาภายใน ทำอย่างไรที่เราจะสามารถส่งต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ภายในระบบประสาทนี้ไปยังบุคคลอื่นได้ วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือการพูดออกมาว่า “ฉันพอใจ”
 
ภาษาพูดเป็นสิ่งที่มีความสลับซับซ้อน ยิ่งมันถูกใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากเท่าไหร่ภาษาก็ยิ่งถูกพัฒนาให้มีความสลับซับซ้อมมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมต่อความต้องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนคำศัพท์หรือรูปแบบวิธีใช้ก็ตาม 
 
หลายภาษาเมื่อถึงจุดหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ก็อาจจะถูกยกเลิกไปด้วยเหตุผลบางอย่าง แต่อีกหลายภาษาก็ยังคงเดินหน้าพัฒนาความสลับซับซ้อนต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
 
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามทุกภาษาต่างก็ถูกกำหนดอยู่ภายใต้กรอบที่สำคัญประการหนึ่ง นั่นก็คือ 
 
“กรอบของประสบการณ์”
 
สมมุติว่าเรากำลังพูดถึงคำว่า “ข้าว” แน่นอนว่าคนไทยเราผูกพันกับข้าวมาเป็นเวลานาน เราเป็นสังคมที่กินข้าวกันอาหารหลักและมีประสบการณ์เกี่ยวกับข้าวมากมาย นอกจากเราจะเรียกเม็ดธัญพืชชนิดนี้ว่า “ข้าว” แล้วภาษาของเรายังพัฒนาต่อไปโดยกำหนดให้มีการจำแนกแยกย่อยออกไปอีกว่าเป็น ข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวสาลี ข้าวฟ่าง ข้าวบาเล่ย์ หรืออื่นๆ อีกมากมาย 
 
เฉพาะในกลุ่มข้าวเจ้าอย่างเดียวก็อาจจะแยกย่อยอกไปอีกว่าเป็นข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว ข้าวเสาไห้ ข้าวสวย และอื่นๆ อีกมากมาย เรียกว่าคำว่าข้าวในภาษาไทยนี้มีความสลับซ้อนอยู่มากอันสืบเนื่องมาจากการที่สังคมของเรามีประสบการณ์ต่อสิ่งนี้อย่างเป็นมากนั่นเอง 
 
แน่นอนว่าว่าในสังคมอื่นที่ทานข้าวเป็นอาหารหลักเหมือนกันพวกเขาย่อมต้องมีคำพูดที่ใช้เรียกสิ่งที่เรียกคนไทยเรียกว่าข้าวนี้อย่างจำแยกย่อยเช่นกัน โดยจะละเอียดซับซ้อนได้มากน้อยขนาดใหนก็ย่อมขึ้นอยู่กับว่าสังคมนั้นๆ มีประสบการณ์กับข้าวมากน้อยแค่ไหน 
 
ส่วนสังคมที่มีประสบการณ์เกี่วกับข้าวน้อยอย่างสังคมตะวันตก พวกเขาไม่ได้กินข้าวเป็นอาหารหลักหมือนอย่างคนตะวันออก ดังนั้นคำว่าข้าวในภาษาของพวกเขาก็จะมีความซับซ้อนน้อยลงไปเป็นอย่างมาก ในบางสังคมอาจจะมีคำเอาไว้เรียกสิ่งที่เรียกว่าข้าวแค่คำเดียวแบบเหมารวมไม่ต้องมาแยกประเภทอะไรให้ยุ่งยากกันอีกเช่นเดียวกับภาษาไทยเราเรียกเกล็ดน้ำแข็งขาวๆ ที่ตกลงมาจากฟ้าว่า “หิมะ” แล้วจบอยู่แค่นั้นเพราะสังคมไทยเราแทบจะไม่มีประสบการณ์ใดเกี่ยวกับหิมะเลย 
 
แต่ถ้าเราไปถามคนแอสกิโมหรือคนฟินแลนด์ที่ทั้งชีวิตอยู่แต่กับหิมะและเกล็ดน้ำแข็งเราอาจจะได้คำเรียกหิมะอย่างสลับซับซ้อนแยกย่อยออกเป็นหลายชนิดยิ่งกว่าการแยกชนิดข้าวของคนไทยเสียอีก 
 
และในกรณีที่สังคมนั้นๆ ไม่เคยมีประสบการณ์หรือเคยรับรู้มาก่อนเลยว่ามีสิ่งนั้นอยู่ เช่นเราอาจจะเข้าไปในป่าดงดิบในส่วนที่ลึกที่สุดเพื่อพบกับชนเผ่าที่ไม่เคยรู้จักและรับรู้กับสิ่งใดๆ ที่เรียกว่าข้าวมาก่อน ในกรณีนี้ก็ไม่ต้องแปลกใจหากภาษาพูดของเขาจะไม่มีคำศัพท์ใดเลยที่หมายถึงข้าวอยู่เลย 
 
และไม่ว่าเราจะฟังเขาพูดสื่อสารกันมากมายแค่ไหนก็ตามเราก็จะไม่มีวันได้ยินคำใดๆ ที่หมายถึงข้าวออกมาจากผู้คนในชนเผ่านี้เลยโดยเด็ดขาด ก็จนกว่าเราจะไปสอนให้เขารู้จักมีประสบการณ์ครั้งแรกกับสิ่งที่เรียกว่าข้าวนั่นแหละ คำว่าข้าวจึงจะสามารถถูกสื่อสารออกมาได้
 
เรื่องภาษาและกรอบของประสบการณ์ที่กล่าวมายาวๆ นี้ผมกำลังจะบอกว่า “เราไม่สามารถพูดในสิ่งที่ไม่มีอยู่ภายในตัวตนของเราออกมาได้โดยเด็ดขาด” 
 
นั่นหมายความว่าทุกสิ่งที่เราพูดออกมามันไม่มีคำใดเลยที่จะสามารถกล่าวออกมาลอยๆ ได้ ทุกถ้อยคำล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นและถูกผลักดันออกสู่โลกภายนอกโดยเริ่มต้นจากประสบการณ์และโครงสร้างอันสลับซับซ้อนของระบบประสาทภายในตัวตนของเราทั้งสิ้น
 
ดังนั้นสำหรับ NLP แล้วจึงไม่มีคำพูดใดเลยที่ไร้สระ ไม่มีความสำคัญ หรือเป็นคำพูดที่ถูกกล่าวออกไปอย่างไร้ความหมาย ทุกสิ่งที่พูดออกมาล้วนสามารถเชื่อมโยงย้อนกลับไปยังโครงสร้างภายในระบบประสาทของผู้พูดได้ทั้งสิ้น
 
 
หลักการที่สำคัญนี้จะนำเราไปสู่เรื่องของ “เมต้าโมเดล” (Meta Model) อันถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดประการหนึ่งใน NLP ครับ
 
#NLP #Neuro Linguistic Programming #Meta Model