เอาชนะอารมณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ด้วยคำถาม Metamodel

   


NLP เป็นศาสตร์ที่ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับกับสภาวะทางอารมณ์ ความเชื่อ หรือความรู้สึกนึกคิดของผู้คน
 
สำหรับทัศนะทางธุรกิจ NLP จะให้น้ำหนักไปที่สภาวะทางอารมณ์ของบุคลากรเป็นอย่างมาก โดย NLP เสนอว่าสภาวะทางอารมณ์หรือความคิดที่เป็น "ลบ" ทุกชนิดล้วนแล้วแต่ส่งผลให้การทำธุรกิจของเรานั้นประสบความล้มเหลวได้ทั้งสิ้น เช่นความคิดที่ว่า "ฉันทำไม่ได้หรอก" ทั้งๆที่ยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย หรือ "ธุรกิจนี้ต้องเจ๊งแน่ๆ" ทั้งๆที่มันยังไม่เจ๊ง 
 
NLP ตั้งคำถามว่า คนที่กำลังจมอยู่ความคิดเช่นนี้อย่างจริงจังจะสามารถประสบความสำเร็จในธุรกิจได้หรือเปล่า?
 
สำหรับคำตอบนั้นผมคิดว่าเราคงสามารถตอบกันได้ไม่ยากนัก
 
ในเมื่อยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย แต่กลับคิดเสียแล้วว่า "ฉันทำไม่ได้หรอก" แล้วอย่างนี้มันจะได้ลงมือทำมั้ยครับ หรือถ้าคิดว่า "ธุรกิจนี้มันต้องเจ๊งแน่ๆ" ทั้งที่เรายังไม่รู้แน่เลยว่ามันจะเจ๊งหรือไม่เจ๊ง หรือถ้าให้พูดจริงๆ ก็ต้องบอกว่ามันยังไม่เจ๊งซักหน่อย (อย่างน้อยๆ ตอนนี้ เดี๋ยวนี้ วินาทีนี้ ก็ยังไม่เจ๊ง) แต่นี่กลับเล่นสาปแช่งตัวเองล่วงหน้าเสียแน่นหนาเสียแล้ว อย่างนี้มีหรือจะไปรอด
 
ดังนั้นแล้วการคิดลบสำหรับการทำธุรกิจแล้วเป็นสิ่งต้องห้ามอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะบั่นทอนกำลังใจในการทำงานแล้ว ยังจะเป็นการบั่นทองกำลังใจของคนอื่นอีกด้วยด้วย โดยเฉพาะกับคนที่กำลังทุ่มเทแรงกายแรงใจปลุกปั้นงานชิ้นนั้นอยู่ อุปมาเหมือนทหารกล้าที่ได้ยินแม่ทัพบ่นทุกวี่ทุกวันว่า ตายแน่ๆ แพ้แน่ๆ รบไปก็มีแต่ตายอนาถ แบบนี้ถ้าทหารยังมีกำลังใจไปรบก็ถือว่าอัศจรรย์แล้วล่ะครับ ส่วนเรื่องจะไปรลชนะข้าศึกอะไรแบบนั้นก็ขอให้ลืมๆไปได้เลย 
 
ด้วยเหตุดังนี้ การแก้ภาวะติดลบของจิตใจหรือสภาพอารมณ์จึงเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมาก
 
แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ความคิดลบเป็นสิ่งที่เราห้ามให้เกิดขึ้นไม่ได้ และเมื่อเกิดความคิดลบขึ้นมาแล้วคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้กลวิธีที่จะใช้ทำลายความคิดลบเหล่านี้
 
โดยทั่วไป เมื่อเกิดความคิดลบ หรืออารมณ์ที่เป็นลบขึ้นมาแล้ว เราก็มักจะใช้วิธีการที่เรียกว่า "การพูดปลอบใจ" ในการแก้ใขปัญหา เช่น ชายคนหนึ่งกำลังมีความทุกข์จากเรื่องธุรกิจที่พักหลังนี้ยอดการขายชักจะตกลงมาก เพื่อนของชายคนนั้นเลยพูดปลอบเขาว่า "ไม่เป็นไรน่า อดทนอีหน่อย เดี๋ยวก็มีลูกค้าเข้ามาเอง" แต่ไม่ว่าเพื่อนของชายคนนี้จะพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าสักกี่ครั้ง ชายคนนี้กลับพบว่าเขาไม่สามารถกำจัดสภาวะอารมณ์ลบในความคิดของเขาได้เลย ดังนั้นจึงจำต้องทนทุกข์กับสภาพอารมณ์ลบของตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างช่วยไม่ได้ และด้วยสภาพจิตใจที่หดหู่สิ้นหวังแบบนี้มันก็ไม่แปลกเลยถ้าเขาจะไม่สามารถพบทางออกของปัญหา และในที่สุดกิจการของเขาก็ถึงกับมีอันล้มพับไปจริงๆ
 
โดยส่วนทั่วไปเรามักจะแก้สภาวะความลบของตนเองด้วยการ "พูดปลอบ" แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถฉุดอารมณ์ให้พ้นจะสภาพอันย่ำแย่แบบนั้นได้ ...รู้ไหมครับว่าทำไม?
 
เหตุที่การ "พูดปลอบ" ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ก็เพราะว่า มันเป็นวิธีที่อ่อนแอเกินไปยังไงล่ะครับ อุปมาเหมือนมีโจรเข้าบ้านเราแล้วเราพยามที่จะไล่โจรด้วยการพูดอย่างนิ่มนวลว่า "อย่านะครับ อย่าปล้นเราเลยนะครับคุณโจร การปล้นนั้นผิดกฏหมาย และเป็นบาปนะครับ" 
 
…โจรที่ไหนมันจะไปกลัวจริงไหมครับ
 
การที่จะไล่โจรเราจะต้องโหดหรือมีน้ำหนักน่ายำเกรงสักหน่อยสิครับโจรมันถึงจะหนี เราต้องตะโกนเสียงด้วยดุดันว่า "อย่าเข้ามานะ! ฉัน(กู)มีปืน! ขืน(มึง)เข้ามาละก็ ฉัน(กู)ยิงก้นแก(มึง)เป็นรูๆแน่ ถ้าอยากให้ก้นมี2รูหรือมันสมองกระจายเต็มพื้นก็เชิญเข้ามาได้เลย!!!" ... มันต้องแบบนี้ครับโจรมันถึงจะเกรงกลัว 
 
ก็เช่นเดียวกันกับการขจัดความคิดในแง่ลบของตัวเรา บางครั้งมันก็ไม่สามารถที่จะใช้วิธีการที่อ่อนแอในการกำจัดออกไปได้ เมื่อถึงเวลานั้นการใช้มาตราการที่รุนแรงมันก็จำเป็นที่จะถูกนำมาใช้ และขอให้มั่นใจได้เลยว่ามันเป็นเทคนิคที่ได้ผลยอดเยี่ยมเป็นอย่างมาก ได้ผลดีเสียจนพูดอย่างภาคภูมิใจได้ว่าเลยนี่เป็นเทคนิคเฉพาะตัวของ NLP ก็ว่าได้ 
 
เทคนิคการหักล้างความคิดลบแบบรวดเร็วทันทีทันใจนั้น NLP เรียกว่า Meta Model 
 
Meta model เป็นเทคนิคที่ริชาร์ด และจอห์น 2 ผู้เริ่มต้นพัฒนาศาสตร์ NLP ได้ร่วมกันวิเคราะและถอดแบบรูปแบบการใช้ถ้อยคำในการบำบัดจากนักจิตบำบัดระดับปรมาจารย์ เช่น ดร.โรเบิรต์ สปิตเซอร์ (Robert Spitzer) และ เวอจีเนีย แซไทร์ (Virgina Satir)
 
Meta model จะทำให้สามารถหลุดพ้นจากอารมณ์ลบได้ในทันที (จากนั้นจึงยกระดับอารมณ์ขึ้นเป็นบวกต่อไป) โดยจะใช้คำถามเป็นตัวหักล้างอารมณ์ลบนั้น เช่น เมื่อมีคนมาบอกเราว่า "ฉันไม่สามารถทำได้หรอก" ถ้าหากเราใช้วิธีการ "พูดปลอบใจ" เราก็จะบอกเขาว่า "คุณต้องทำได้อยู่แล้ว ผมเชื่อมั่นในตัวคุณนะ" ซึ่งพูดกันตรงๆเลยมันไม่สามารถหักล้างความอารมณ์ลบของเขาได้ในทันทีหรอกครับ ดีไม่ดีอาจจะเป็นการไปเพิ่มความกดดันของเขาให้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วยซ้ำไป
 
แต่ถ้าหากเราใช้เทคนิค Meta Model เป็นตัวหักล้าง เราก็จะได้รูปประโยคการสนทนาประมาณนี้ครับ
 
บางคน : "ฉันไม่สามารถทำได้หรอก"
NLP : "แล้วคุณเคยทำสิ่งนั้นหรือยัง"
บางคน : "ยังครับ"
NLP : "แล้วคุณรู้ได้อย่างไรว่าทำไม่ได้?"
บางคน : ".............."
 
เราอาจจะเรียกเทคนิคนี้ว่าเป็นการ "ขัดคอเพื่อให้ได้คิด" ก็ได้ เพราะความคิดหรืออารมณ์ลบโดนหักล้างออกไปจากระบบประสาทโดยทันทีโดยอาสัยคำถามเข้าไปเป็นตัวสะกัดความคิดแคบๆที่คลุมเครือ ผู้ถูกถามจะรู้สึกอย่างกับว่าถูกยักษ์ตัวใหญ่กระชากออกไปจากบ่อโคลนเล็กๆที่เขาติดหล่มอยู่เสียนานทีเดียว และเมื่อสามารถพ้นออกจากวงวันแคบๆของอารมณ์ลบได้แล้ว ทีนี้เขาก็พร้อมแล้วที่จะได้รับการกระตุ้นสร้างอารมณ์ที่บวก หรือสร้างความมั่นใจด้วยเทคนิคต่างๆต่อไป ...หรืออีกตัวอย่างหนึ่งเช่น
 
บางคน : "ฉันน่ะเป็นคนมีชื่อเสียง ทุกคนชอบฉันหมดล่ะ" (คนนี้ต่างจากคนแรก เพราะคนนี้หลงตัวเองจนไม่ค่อยจะยอมรับฟังใครครับ)
NLP : "ทุกคนเลยๆจริงเหรอ"
บางคน : "จริงสิ"
NLP : "ไครบ้างล่ะ"
บางคน : "ทุกคนในบริษัทน่ะ"
NLP : "ก็แค่ทุกคนในบริษัทเองนี่ นึกว่าจะคนทั้งโลกซะอีก"
บางคน : "....................."
 
สำหรับการนำเอา Meta Model มาใช้นั้น เราสามารถที่จะถามอะไรก็ได้ขึ้นอยู่กับสถนการณ์และความเหมาะสมของแต่ละบุคคล แต่จะมีหลักง่ายๆอยู่สองสามอย่างที่จะใช้เป็นแนวทางในการตั้งคำถามครับ คือ
 
1. รู้ได้อย่างไร ...เช่น
 
บางคน : "ฉันว่าเขาต้องไม่ชอบฉันแน่เลย"
NLP : "คุณรู้ได้อย่างไร เขาเคยบอกคุณเหรอ?"
บางคน : "....................."
 
2. เคยแล้วเหรอ ...เช่น
 
บางคน : "ไม่เอาหรอกฉันตื่นไม่ไหว"
NLP : "เคยตื่นแล้วเหรอ รู้ได้อย่างไรว่าจะไม่ไหว?"
บางคน : "....................."
 
3. เทียบกับอะไร
 
บางคน : "ร้านผมลูกค้าน้อยจัง"
NLP : "จริงเหรอครับ เทียบกับอะไรครับ?"
บางคน : "ร้านฝั่งตรงข้าม"
NLP : "เหรอครับ แล้วทำไมไม่ลองเทียบกับร้านตรงหัวมุมดูละครับ?" (ร้านตรงหัวมุมลูกค้าน้อยกว่ามาก)
บางคน : "...........นั่นสินะครับ"
 
แน่นอนครับว่าตัวอย่างการสนทนาข้างต้นนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างในการจำลองการถามแบบ Meta Model เท่านั้น เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถใช้การถามแบบตัวอย่างข้างต้นนี่ได้เป๊ะๆกับทุกสถาณะการณ์
 
ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่าครับในการถามแบบ Meta model นั้นเราสามารถที่จะถามอะไรก็ได้ขอเพียงแค่ยึดหลักง่ายๆสามประการในการตั้งคำถามหักล้าง ซึ่งก็คือ
 
1. รู้ได้อย่างไร?
2. เคยทำแล้วเหรอ?
3. เทียบกับอะไร?
 
เพียงเท่านี้เอง คำถามที่เราถามออกไปจะกลายเป็น Meta Model สำหรับกระชากคนให้พ้นจากหล่มความรู้สึกลบๆ ทันที
 
และถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติแล้ว การถามแบบ Meta Model จะดูตรงไปตรงมา ขวานผ่าซาก หรืออาจจะดูยียวนกวนกวนประสาทไปซักหน่อย แต่ก็ด้วยความที่มันตรงไปตรงมานี่เอง ก็เลยทำให้มันสามารถหักล้างความคิดในแง่ลบของคนอื่นได้แบบทันทีทันใดและตรงจุด 
 
เพราะฉะนั้นเมื่อทุกท่านอ่านหัวข้อนี้จบลงแล้ว และเมื่อใดก็ตามที่ท่านได้พบกับใครซักคนที่กำลังรู้สึกท้อแท้กับชีวิต หรือเจอใครซักคนที่กำลังติดอยู่กับวังวนของอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นลบ (หรือแม้แต่คนๆ นั้นจะเป็นตัวท่านเองก็ตาม) ก็ขอให้ทดลองใช้ Meta Model ในการจัดการปัญหาเหล่านั้น แล้วท่านจะพบกับผลลัพธ์ที่น่ามหัศจรรย์ของ NLP ครับ