วิธีเอาชนะการผัดวันประกันพรุ่ง

   


อาจารย์ของผม (ดร.บุญเลิศ) ท่านมักพูดอยู่บ่อยๆ ว่าเหตุผลของความล้มเหลวในชีวิตที่ง่ายและพบได้บ่อยที่สุดก็คือ
 
"การผัดวันประกันพรุ่ง”
 
เหตุผลก็เพราะว่าทุกความสำเร็จมีจุดเริ่มต้นคือการลงมือ แต่การผัดวันประกันพรุ่งคือการไม่ทำ สิ่งที่ควรทำก็ละไว้ก่อน ผัดผ่อนเอาไว้ก่อน เมื่อเป็นอย่างนี้เรื่องความสำเร็จอะไรคงไม่ต้องเสียเวลาไปพูดถึงกันอีก
 
ไบรอัน เทรซี่ ได้เขียนในหนังสือ “กินกบ” ของเขาว่า วิธีจัดการกับปัญหาผัดวันประกันพรุ่งที่ง่ายที่สุดก็คือ
 
“การจัดเตรียมวัตถุดิบให้พร้อมก่อนลงมือทำ”
 
ลองนึกถึงพ่อครัวในห้องครัวดูสิ พอลูกค้าสั่งผัดกระเพราหมูสับมา 1 จาน พ่อครัวก็ค่อยเดินไปเด็ดใบกระเพรา ปอกกระเทียม ไปสับหมู แล้วจึงค่อยเดินไปจุดเตาอย่างนั้นหรือ?
 
แบบนี้แค่คิดก็เหนื่อยแทนแล้ว เหนื่อยทั้งคนผัด
เหนื่อย(ใจ)ทั้งคนรอกินนั่นแหละ
 
แต่ถ้าข้าวของวัตถุดิบทุกสิ่งอันมันถูกจัดเตรียมคอยท่าเอาไว้ก่อนเรียบร้อยแล้ว มันก็เหมือนว่างานได้เสร็จล่วงหน้าไปแล้วครึ่งหนึ่งตั้งแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ เพราะลูกค้าสั่งปุ๊บ พ่อค้าก็ผัดปั๊บ พร้อมเสิร์ฟได้อย่างรวดเร็ว
 
ความจริงสำหรับการทำงานอื่นๆ ก็คล้ายกัน
 
คือถ้ามีการจัดเตรียมความพร้อมเอาไว้ล่วงหน้าก่อนที่จะลงมือทำจริง พอถึงเวลาลงมือทำจริงมันก็ง่าย เพราะมันง่ายนี่แหละเราเลยรู้สึกอยากที่จะลงมือทำในทันที
 
เชื่อเถอะว่าไม่มีใครอยากทำอะไรยากๆ หรอก
 
มาลองคิดดูว่าคนเราจะผัดวันประกันพรุ่งกันไปทำไม?
 
เหตุผลง่ายๆ ก็เพราะว่าเขารู้สึกว่างานมันยากหรือมันยุ่งยากเกินไปกว่าที่เขาจะลงมือทำทันที เมื่อเป็นอย่างนั้นก็เลยผัดผ่อนกันเอาไว้ก่อน เดี๋ยวทำใจได้ค่อยมาลงมือทำทีหลังก็แล้วกัน แล้วก็ทิ้งยาวจนลืมไปเสียฉิบแทบจะทุกที
 
แต่ถ้าทุกอย่างมันดูง่าย มันดูแล้วสะดวก การผัดวันประกันพรุ่งก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป
 
นี่เป็นวิธีการง่ายๆ ที่ท่านสามารถนำไปใช้จัดการกับการทำงานต่างๆในชีวิตของท่านได้
 
ถ้ากบมันตัวใหญ่มากเสียจนกินเข้าไปทีเดียวไม่ไหว การหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ เตรียมเอาไว้ก่อนมันก็ช่วยให้การกินกบนั้นมันง่ายขึ้นอีกเยอะ
 
.
.
 
แต่ในฐานะของนักสะกดจิตบำบัด จากงานที่ทำอยู่ทุกวัน ทำให้พบว่าหลายคนมีปัญหาเรื่องการผัดวันประกันพรุ่งในระดับที่ฝังตัวลึกลงไปในระดับจิตใต้สำนึก
 
คนกลุ่มนี้น่าเห็นใจ เพราะไม่ว่าจะพยายามหั่นกบเป็นชิ้นเล็กๆ แค่ไหนก่อนแล้วก็ตาม พอถึงเวลาจริงก็ไม่หนีพ้นการผัดเอาไว้ก่อนอยู่ดีนั่นแหละ
 
เราต้องเข้าใจว่าจิตใต้สำนึกเป็นเรื่องของความเคยชิน เป็นกลไกอัตโนมัติที่ทำไปตามรูปแบบเดิมๆ โดยไม่เข้าใจเหตุผลอะไรทั้งสิ้น
 
จึงไม่ต้องแปลงใจหากการหั่นกบจะใช้ไม่ได้ผลสำหรับในกรณีแบบนี้
 
ดังนั้นหากพฤติกรรมผัดวันประกันพรุ่งที่มีดูว่าจะอยู่ในระดับที่หนักหนาสาหัสอยู่สักหน่อย เห็นว่าคงจะแก้ไขไม่ได้ด้วยวิธีการทั่วไปแล้วล่ะก็ “การสะกดจิตบำบัด” ซึ่งเป็นการเข้าไปให้การเรียนรู้โดยตรงต่อจิตใต้สำนึกก็น่าจะเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่อาจจะช่วยท่านได้
 
:)
 
เพราะการสะกดจิตบําบัดแท้จริงแล้วคือการเรียนรู้
 
เมื่อจิตใต้สำนึกมันกำลังตอบสนองต่อบางสิ่งอย่างไม่ถูกต้อง เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องบอกกล่าวให้จิตใต้สำนึกได้รู้สำนึกว่าแท้จริงมันควรต้องทำสิ่งนั้นอย่างไร ทั้งหมดก็เพื่อความสุขและความสำเร็จอันจะพึงเกิดขึ้นในชีวิตเรานั่นเอง