รูปแบบของความผิดเพี้ยน (Meta Model)

   


เมื่อเราลงลึกลงไปถึงรูปแบบของถ้อยคำต่างๆ อันจะสามารถเชื่อมโยงกลับไปสู่กระบวนการ "สรุป"  "ตัดทอน" และ "บิดเบือน" ที่ไม่สร้างสรรค์ (ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญของ Meta Model ใน NLP) ในที่สุดนัก NLP ก็สามารถจำแนกแยกย่อยลักษณะของถ้อยคำต่างๆ ออกมาได้ดังต่อไปนี้
 
กลุ่มคำที่แสดงถึงกระบวนการตัดทอน (Deleted) ที่ไม่สร้างสรรค์ ประกอบไปด้วย
 
• Unspecified Noun คือคำนามที่ไม่ระบุรายละเอียด เช่น “ฝรั่งเห็นแก่ตัว” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุรายละเอียดของคำนามที่กล่าวถึง” เช่น “ฝรั่งทุกคนเห็นแก่ตัว?”
 
• Unspecified Verb คำกริยาที่ไม่ระบุรายละเอียด เช่น “ฉันไม่ชอบออกกำลังกาย”สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุรายละเอียดของคำกริยาที่กล่าวถึง” เช่น “ไม่ชอบออกกำลังกายทุกอย่างเลยเหรอ?”
 
• Comparison การเปรียบเทียบที่ไม่ชัดเจน เช่น “คนอื่นทำงานนี้ได้ดีกว่าผม” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุรายละเอียดของสิ่งที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ” เช่น “คนอื่นนี่คือใคร?”
 
• Judgment การด่วนตัดสิน เช่น “ฉันโง่เอง” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุว่าใครเป็นคนตัดสิน” เช่น “มีอะไรบ่งบอกว่าคุณโง่?”
 
• Nominalization คำกริยาถูกใช้เป็นคำนาม เช่น “ทำงานแต่เช้าแล้วรู้สึกแย่” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุรายละเอียดของกริยาที่ถูกเอ่ยถึงในลักษณะของคำนาม” เช่น “ใครมาทำงานแต่เช้า มาแต่เช้านี่คือมากี่โมง?”
 
กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มคำที่แสดงถึงกระบวนการบิดเบือนผิดเพี้ยน (Distorted) ที่ไม่สร้างสรรค์ ประกอบไปด้วย
 
• Complex Equivalence การเชื่อโยงสองประโยคที่ดูคล้ายกัน (แต่ไม่เหมือนกัน) เช่น “ทำตาปรือแบบนี้ง่วงนอนซินะ ” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุว่าทำไมสองสิ่งนี้จึงเหมือนกัน” เช่น “ทำไมคุณจึงคิดว่าตาปรือหมายถึงง่วงนอน?”
 
• Presupposition การทึกทักสิ่งที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า เช่น “ปีนี้ไม่น้ำหรอก” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุว่ารู้ล่วงหน้าได้อย่างไร” เช่น “รู้ได้ยังไงว่าน้ำไม่ท่วม?”
 
• Cause and Effect การใช้เหตุและผลเป็นข้ออ้าง เช่น “งานที่ฉันทำไม่ดีเพราะเด็กข้างบ้านเอาแต่ร้อง” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุว่าทำไมสิ่งนี้จึงทำให้เกิดสิ่งนั้น” เช่น “ทำไมเด็กข้างบ้านจึงทำให้คุณทำงานได้ไม่ดี ถ้าเด็กไม่ร้องแล้วงานของคุณจะดีแน่นอน?”
 
• Mind Reading การละเมิดอ่านใจคนอื่น เช่น “พวกคุณมันพวกนิยมเผด็จการชัดๆ” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุว่าคุณรู้ได้อย่างไรว่าเขารู้สึกหรือคิดแบบนั้น” เช่น “คุณรู้ได้ยังไงว่าเขานิยมเผด็จการ เขาเคยบอกคุณเหรอ?”
 
และกลุ่มคำสุดท้ายเป็นกลุ่มคำที่แสดงถึงกระบวนการสรุป (Generalize) ที่ไม่สร้างสรรค์ ประกอบไปด้วย
 
• Modal Operator of Possibility การระบุความเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ล่วงหน้า เช่น “เขาไม่สามารถทำงานนี้ได้หรอก” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้นหรือไม่เป็นแบบนั้น และถ้าเป็นหรือไม่เป็นอย่างนั้นขึ้นมาจะเป็นอย่างไร” เช่น “รู้ได้อย่างไรว่าเขาทำไม่ได้ แล้วถ้าเขาเกิดทำได้ขึ้นมาล่ะ?”
 
• Modal Operator of Necessity การระบุความตายตัว (จะต้องแบบนี้เท่านั้น) ล่วงหน้า เช่น “ผมจะไม่มีวันพูดกับเขาอีก” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุว่าทำไมจึงต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น และถ้าหากมันไม่เป็นอย่างนี้อะไรจะเกิดขึ้น” เช่น “อะไรที่เป็นตัวกำหนดให้คุณไม่สามารถพูดกับเขาได้อีก ถ้าหากเขาพูดกับคุณหรือคุณพูดกับเขาอะไรจะเกิดขึ้น”
 
• Universal Quantifier ตัวเลขหรือปริมาณที่ไม่ชัดเจน เช่น “ต้นทุนมันสูงมาก” สำหรับคำถามสำหรับการแก้ไขก็คือ “โปรดระบุเวลา ตัวเลข หรือปริมาณที่ชัดเจน” เช่น “ต้นทุนสูงนี่คือเท่าไหร่?”