การสรุปข้อมูล (ตอนที่2)

   


“การตัดทิ้ง” (Deleted)
 
“การเหมารวม” (Generalize)
 
“การทำให้ผิดเพี้ยน” (Distorted)
 
การทำงานของเรื่องมือทั้งสามประการที่กล่าวถึงนี้ผมจะขอธิบายง่ายๆ ด้วยตู้ขายผักในซูเปอร์มาเก็ตดังต่อไปนี้ครับ
 
สมมุติว่าตอนนี้เรากำลังเดินอยู่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง 
 
ในซุปเปอร์มาเก็ตนี้มีตู้แช่เย็นผักขนาดใหญ่ตู้หนึ่งที่มีผักนาๆ ชนิดเรียงรายอยู่ภายในตู้ เมื่อเรามองไปที่ตู้แช่ผักที่ว่านี้ แน่นอนว่าระบบประสาทของเราจะต้องพบกับการรับรู้รายละเอียดเป็นจำนวนมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดของตู้แช่ผัก รายละเอียดของผักชนิดต่างๆ ที่เรียงรายอยู่ในตู้เป็นจำนวนมาก  ไหนจะถุงหรือแผ่นป้ายบอกน้ำหนักและราคาของผักแต่ละชนิดอีก 
 
ดังนั้นเพื่อความสะดวกในการรับรู้ระบบประสาทของเราจึงเลือกที่จะสรุปออกมาง่ายๆ ด้วยการใช้เครื่องมือ “เหมารวม” ทำการเหมารวมว่าสิ่งที่กำลังรับรู้อยู่นี้คือ “มีผักอยู่ในตู้แช่ผัก” แล้วทุกอย่างก็จบแต่เพียงเท่านั้นโดยไม่ต้องไปสนใจอีกว่าผักที่ว่าคือผักอะไรบ้างมีรายละเอียดของผักแต่ละชนิดอย่างไร
 
ทีนี้สมมุติต่อไปอีกว่าเราต้องการมะเขือเทศซักหนึ่งลูก 
 
ทันใดนั้นสายตาของเราก็จะจับจ้องไปที่ตระกร้ามะเขือเทศในตู้แช่ผักนั้นเพื่อค้นหามะเขือเทศลูกที่ระบบประสาทของเรามันตีความหมายว่าดีที่สุดในการรับรู้ 
 
ในการนี้สมองของเราจะใช้เครื่องมือ “ตัดทิ้ง” ทำการตัดข้อมูลอื่นๆ ที่มันคิดว่าไม่จำเป็นต้องไปรับรู้ทิ้งออกไปเสีย 
 
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผักอีกนานาชนิดที่รายล้อมตะกร้ามะเขือเทศนี้อยู่จะถูกตัดออกไปจากการรับรู้ของเราทันที โดยการรับรู้ของเราจะถูกบีบวงล้วมเข้ามาอยู่ที่รายละเอียดของมะเขือเทศที่เป็นเป้าหมายของเราเท่านั้น ส่วนอย่างอื่นถึงกำลังเห็นก็ต้องเรียกว่าเหมือนไม่เห็นหรือเหมือนว่ามันไม่ได้มีอยู่ตรงนั้น
 
และในที่สุดเมื่อเราตัดสินใจเลือกมะเขือเทศขึ้นมาลูกหนึ่งแล้ว แทนที่เราจะกำลังรับรู้ว่านั่นคือมะเขือเทศลูกหนึ่งที่มีรายละเอียดต่างๆ ที่มะเขือเทศลูกหนึ่งพึงจะมี (เช่นสี ขนาด น้ำหนัก หรือรอยตำหนิต่างๆ) แต่ระบบประสาทของเราก็อาจจะกำลังใช้เครื่องมือ “ทำให้ผิดเพี้ยน” เบี่ยงเบนการรับรู้นั้นออกไปให้กลายเป็นสิ่งอื่นที่นอกเหนือไปจากมะเขือเทศ 
 
เช่นอาจจะกำลังรับรู้ว่าสิ่งที่มองเห็นอยู่นี้ สด สวย ราคาถูก อร่อย ดีต่อสุขภาพ หรือสลัดซาลซ่าชามโต แทนที่จะมองและรับรู้รายละเอียดของมะขือเทศผลหนึ่ง 
 
นี่คืออิธิพลการทำงานของเครื่องมือสรุปการรับรู้ทั้งสามประการที่ส่งอิธิพลต่อการรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ อยู่ตลอดเวลา และไม่ใช่แค่การเลือกผักเท่านั้น แต่สำหรับทุกๆ เรื่องระบบประสาทของเราก็รับรู้สิ่งต่างๆ ด้วยกลไกแบบนี้ทั้งสิ้น
 
เช่นเมื่อเราขับรถของเราอยู่ดีๆ แล้วมีรถคันหนึ่งขับปาดหน้า เหตุการณ์นี้แทนที่เราจะรับรู้รายละเอียดของเหตุการณ์ว่ามีรถคันหนึ่งกำลังเปลี่ยนเลนโดยกะทันหันข้างหน้าของคุณ และยังไม่มีอุบัติเหตุใดๆ เกิดขึ้น 
 
แต่ระบบประสาทของเราอาจจะเริ่มต้นด้วยการตัดรายละเอียดบางอย่างทิ้งออกไปแล้วสรุปออกมาอย่างเหมารวมว่านี่คือการถูกขับปาดหน้า และในที่สุดบทสรุปออย่างเหมารวมนี้ก็อาจจะถูกบิดเบือนความหมายให้ผิดเพี้ยนไปอีกจนกลายเป็นการถูกล่วงเกินหรือดูหมิ่นบนถนน ท้ายที่สุดความรู้สึกโมโหหรือไม่พอใจจึงถูกสร้างขึ้นมาตอบสนองอันจะนำไปสู่พฤติกรรมต่างๆ ที่เราจะแสดงตามมาหลังจากนั้น
 
สำหรับเหตุการอื่น ประสบการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้นในชิวิตของเราล่ะ เครื่องมือทั้งสามนี้สรุปมันออกมาว่าอย่างไร และทำให้เราตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นอย่างไร?
 
นี่อาจจะน่าตกใจซักหน่อยกับความจริงที่ว่าสมองของเรา ระบบประสาทของเรา มันไม่ได้รับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาเสียเท่าไหร่นัก แต่อย่างไรก็ตามเราก็ต้องเข้าใจว่ากระบวนการสรุปที่เกิดขึ้นรวมไปถึงเครื่องมือทั้งสามตัวนี้เป็นสิ่งจำเป็น จะไม่ให้มันมีอยู่นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ 
 
ประเด็นที่สำคัญจริงๆ สำหรับเรื่องนี้ก็คือว่า เมื่อกระบวนการสรุปการรับรู้นี้เกิดขึ้นมาอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว มันจะให้ผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์มากน้องเพียงแค่ไหนต่างหาก
 
ถ้าการหกล้มลงจะถูกสรุป ตัดทอน และบิดเบือนไปว่านี่คือประสบการณ์เรียนรู้ที่ดีเพื่อที่จะไม่ต้องหกล้มลงอีกในโอกาสหน้า นัก NLP ก็มองว่านั่นคือรูปแบบที่สร้างสรรค์ ไม่มีเหตุผลใดเลยที่เราจะต้องไปวิตกกับรูปแบบการสรุป ตัดทอน และบิดเบือนที่กำลังเกิดขึ้นนี้ 
 
แต่ถ้าผลที่ได้มันเป็นเกิดไปในทางตรงกันข้าม เช่นมันทำให้รู้สึกท้อแท้ หดหู่ สิ้นไหว หรือเกิดเป็นข้ออ้างที่จะไม่ลุกขึ้นแล้วก้าวเดินต่อไป นั่นแหละที่นัก NLP จะมองว่าการสรุป ตัดทอน และบิดเบือนที่กำลังเกิดมันทำให้เกิดปัญหาบางอย่างขึ้นมาเสียแล้ว
 
ผู้คนที่ประสบความสำเร็จจำนวนมากไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่เกิดกระบวนการเหมารวม ตัดทิ้ง หรือบิดเบือนทำให้ผิดเพี้ยน หากแต่รูปแบบการสรุปที่พวกเขามีมันเป็นรูปแบบที่สร้างสรรค์ต่อชีวิตของเขาอย่างเต็มที่ต่างหาก
 
เราอาจจะหลีกเลี่ยงมันไม่ได้จริง แต่เราสามารถทำให้มันเกิดขึ้นอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างแน่นอนครับ
 
Ref. NLP (Neuro Linguistic Programming)