กฏแห่งการเรียนรู้ของธอร์นไดก์

   


เอ็ดเวิร์ด ลี ธอร์นไดก์ (Edward Lee Thorndike) นักจิตวิทยาชาวอเมริกันกล่าวว่าการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า (Stimulus) และการตอบสนอง (Response) ในระยะเวลาที่เหมาะสมพอดี เช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น เหตุการณ์นี้ก็คือสิ่งเร้าที่เข้ามาซึ่งมนุษย์ก็จะตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นๆ
 
โดยการตอบสนองต่อเหตุการณ์นั้นจะมีหลายรูปแบบอยู่ในลักษณะของการลองผิดลองถูก (Trial and Error) เมื่อค้นพบกับรูปแบบที่คิดว่าดีที่สุดแล้วร่างกายก็เลือกที่จะตอบสนองต่อรูปแบบที่ดีที่สุดนี้เพียงอย่างเดียว ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้และสมองก็จะเก็บการเรียนรู้นี้เอาไว้เป็นประสบการณ์ (ความจำ) เพื่อนำไปใช้ในการเผชิญต่อเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันหรือคล้ายๆ กันนี้ในโอกาสต่อไป
 
หากระหว่างความสัมพันธ์ของสิ่งเร้าและการตอบสนองมีแรงเสริมมาช่วยด้วยแล้ว ก็จะเป็นการช่วยให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
 
ธอร์นไดก์ได้สรุปกฎของการเรียนรู้ออกเป็นกฎใหญ่ๆ ได้แก่ “กฎการเรียนรู้หลัก 3 ข้อ” และ “กฎการเรียนรู้ย่อย 5 ข้อ”

 


กฎการเรียนรู้หลัก 3 ข้อ (The Three Major Law Learning)

1. กฎของความพร้อม (Law of Readiness) การเรียนรู้ใดๆ ก็ตามจะเกิดขึ้นได้ถ้าบุคคลนั้นมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่จะได้เรียนรู้ต่อสิ่งนั้นๆ ซึ่งก็คือการเรียนรู้จะเกิดขึ้นหากผู้เรียนรู้มีความพึงพอใจต่อสิ่งที่จะได้เรียนรู้

  • หากบุคคลมีความพร้อมที่จะกระทำหรือเรียนรู้ ถ้าได้กระทำหรือเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ ก็ย่อมมีความพึงพอใจจนทำให้เกิดการเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ ขึ้นมา
  • หากบุคคลมีความพร้อมที่จะกระทำหรือเรียนรู้ ถ้าไม่ได้กระทำหรือเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ ก็ย่อมมีความไม่พึงพอใจ ไม่สบายใจ หรือหงุดหงิด
  • หากบุคคลไม่มีความพร้อมที่จะกระทำหรือเรียนรู้ ถ้าถูกบังคับกระทำหรือเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ ก็ย่อมมีความคับข้องใจ อึดอัดใจ เครียด เกิดเป็นเป็นความไม่พอใจหรือต่อต้านขึ้นมาได้

2. กฎของการฝึกหัด (Law of Exercise) การเรียนรู้ใดก็ตามหากเกิดขึ้นแล้วก็ควรได้รับการกระทำซ้ำไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการสร้างความแข็งแรงให้กับความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและผลตอบสนอง

  • การเรียนรู้ใดก็ตามหากเกิดขึ้นแล้วได้รับการกระทำซ้ำไปเรื่อยๆ ก็ย่อมเกิดเป็นความชำนานและพัฒนาเป็นความเคยชินในที่สุด ยิ่งฝึกมากความถูกต้องสมบูรณ์ก็ยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ
  • การเรียนรู้ใดก็ตามหากเกิดขึ้นแล้วขาดการกระทำซ้ำ ก็ย่อมเกิดความเสื่อมถอยลดประสิทธิภาพลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งลืมเลือนไปที่สุด
3. กฎของผลการตอบสนอง (Law of Effect) การเรียนรู้ใดก็ตามหากเกิดขึ้นแล้วได้รับความสุข ความพึงพอใจ ความภูมิใจ ร่างกายก็จะเลือกที่จะแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำอีกหากได้พบกับสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์ที่เหมือนเดิม ในทางตรงข้ามหากการเรียนรู้ใดก็ตามหากเกิดขึ้นแล้วได้รับความทุกข์ ความเสียใจ ความผิดหวัง ก็มีแนวโน้มสูงว่าพฤติกรรมเหล่านั้นจะถูกลดความสำคัญลงจนกระทั่งเลือนหายไปในที่สุด
 

กฎการเรียนรู้ย่อย 5 ข้อ (The Five Subordinate Law Learning)

  1. เมื่อพบกับสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหา บุคคลจะตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ที่เป็นปัญหานั้นหลายรูปแบบ และจะตอบสนองต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพบกับรูปแบบการตอบสนองที่คิดว่าดีที่สุดจึงจะยุติการตอบสนองรูปแบบอื่นลงจนเหลือเพียงรูปแบบการตอบสนองที่คิดว่าดีที่สุด
  2. การเรียนรู้ที่ดีจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อผู้เรียนมีทัศนะคติที่ดีต่อการเรียนรู้นั้นก่อน ในทางตรงข้ามผู้เรียนรู้ที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อสิ่งที่กำลังจะเรียนรู้จะเกิดการเรียนรู้ที่ไม่ดี ไม่สมบูรณ์
  3. ในกรณีที่วิธีแก้ปัญหา (วิธีตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือเหตุการณ์) มีวิธีที่ดีอยู่มากมายหลายวิธี บุคคลจะเลือกใช้วิธีการที่สะดวก รวดเร็ว เสียเวลาน้อยที่สุดก่อนเสมอ
  4. เมื่อประสบกับสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ใหม่ๆ ก็มีแนวโน้มที่บุคคลจะเลือกเอาวิธีตอบสนองที่ดีที่สุดจากสิ่งเร้าหรือประสบการณ์ก่อนๆ ที่ใกล้เคียงกันที่สุดมาใช้สำหรับตอบสนองสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นเรื่องใดก็ตามที่คล้ายคลึงกับเรื่องที่เคยเรียนรู้มาแล้วในอดีตจึงสามารถเรียนรู้ได้เร็วกว่าสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ใหม่ทั้งหมด (เราเรียกกลไกนี้ว่า “ประสบการณ์”)
  5. การเรียนรู้ในสิ่งใหม่จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วหากบุคคลผู้เรียนรู้มีความสามารถในด้านเชื่อมโยงสิ่งเร้าหรือสถานการณ์ใหม่เข้ากับสิ่งเร้าหรือสถานการณ์เก่าที่เคยเรียนรู้มาแล้ว